งานเสวนา “การพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารสู่ตลาดโลก” โดยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ระบุ ปี 2560 สินค้าเกษตรและอาหาร มีมูลค่าการส่งออกกว่า 8.8 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ปีนี้โตไม่น้อยกว่า 10% อันเป็นผลพวงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ข้าวครองแชมป์ส่งออกมากที่สุด เอาแค่ตัวเลขการส่งออกข้าว 8 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าสูงถึง 115,712.0 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5.05% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
แต่กระนั้นไม่ควรมองข้ามเพื่อนบ้าน เวียดนามพัฒนาในเชิงปริมาณ...กัมพูชาเน้นเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะในข้าวหอมมะลิที่ได้ราคาดีกว่า
สอดคล้องกับความเห็น ดร.วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวหงษ์ทอง...เวียดนาม เริ่มมาพัฒนาข้าวหอมมะลิ โดยใช้ทั้งพันธุ์ข้าวจากไทยบวกท้องถิ่น แม้จะไม่หอมเท่าข้าวหอมมะลิไทย แต่หอมในระดับหนึ่ง ทำให้ได้ราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิไทยเกือบครึ่ง
สิ่งที่น่ากังวลคือ หากกลไกตลาด หรือการกระทำที่ไปกระตุ้นข้าวหอมมะลิไทยมีราคาสูงมากเกินไป (ปัจจุบันอยู่ 1,000 ยูเอสดอลลาร์ขึ้นไป) ตลาดต่างประเทศจะหันไปซื้อของเวียดนามแทน
ส่วนกัมพูชาเน้นเรื่องคุณภาพ แรกๆความหอมเริ่มพัฒนาในระดับน้องๆหอมมะลิไทย แต่พัฒนามาเรื่อย จนบางปีเขี่ยข้าวหอมมะลิไทยไปเป็นอันดับรองๆในหลายเวทีประกวด
แม้ปริมาณการผลิตยังไม่มากเมื่อเทียบกับไทย เวียดนาม แต่น่าหวาดหวั่นไม่น้อย หากเพิ่มจำนวนและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เพราะหลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา ไฟเขียวมาแล้ว รับซื้อไม่อั้น
ฉะนั้นหากจะแข่งขัน ไทยต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องไม่มองแค่ตัวเลขการส่งออก หรือเพิ่มรายได้เข้าประเทศเท่านั้น แต่ควรมองถึงการพัฒนาเกษตรกร หัวใจของการแก้ปัญหารากฐานของรายได้ประชาชน การเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาพื้นฐานสังคมด้วย
...
ขณะเดียวกันต้องพัฒนาช่องทางตลาดใหม่ๆให้ทันกับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาภาคเกษตรให้ยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม ให้วินวินตลอดห่วงโซ่การผลิต.
สะ–เล–เต