แม้การประกวดข้าวโลก ประจำปี 2561 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวมะลี อังกอร์ (Malys Angkor) จากกัมพูชา จะได้รับคัดเลือกให้เป็นข้าวที่ดีที่สุดของโลกประจำปีนี้ ก็ตาม แต่ภาคเอกชนเชื่อมั่นว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย

นายฐิติ ลุจินตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด วิเคราะห์ว่า ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ ไทยยังคงได้เปรียบเพราะตลาดเป็นกลุ่มเดิมที่บริโภคชื่นชอบข้าวหอมไทยไม่เปลี่ยนแปลง ข้าวหอมมะลิไทยได้เปรียบตรงมีสภาพแวดล้อม พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องยาวนาน

เทคนิคการปรับปรุงการจัดการตั้งแต่การคัดเมล็ดพันธุ์ เรียนรู้และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ นำมาใช้อย่างเข้าใจ เข้าถึง และนำมาพัฒนาการเพาะปลูก ทำให้ข้าวเปลือกที่ได้มีคุณภาพเมล็ดเต็ม ด้วยประสิทธิภาพจัดการตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เพาะปลูก เก็บเกี่ยว ไปจนถึงอบข้าวเปลือก สีออกมาเป็นข้าวสาร บรรจุถุง ช่วยทำให้ข้าวทุกเมล็ดมีคุณภาพมาตรฐาน ฉะนั้น สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ตลาดส่งออกไทยจึงไม่น่าวิตกว่า ตลาดข้าวหอมไทยจะถูกกัมพูชาแย่งชิง

...

“วันนี้ชาวนาไทยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือก สีออกมาเป็นข้าวสารได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยมีเมล็ดข้าว มีความยาว สวย เมล็ดขาวใส กลิ่นหอม ในขณะที่ข้าวสุกร้อนหรือเย็น คุณภาพมีความคงที่ ตลาดผู้บริโภคไทยต่างประเทศให้การยอมรับส่วนข้าวหอมกัมพูชา แม้มี DNA สายพันธุ์เดียวกับไทย แต่กัมพูชาเพิ่งเริ่มศึกษาเทคโนโลยีการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เปอร์เซ็นต์ข้าวหัก ข้าวแตกมีมาก ที่สำคัญข้าวหอมกัมพูชายังมีเมล็ดข้าวสั้น แม้จะมีกลิ่นหอมนุ่มขณะข้าวร้อนๆ แต่ถ้าข้าวสุกเย็นจะมีความเหนียวและแข็ง”

แต่เพื่อความไม่ประมาท นายฐิติ แนะนำว่า วันนี้ผู้ประกอบการไทยต้องรีบปรับตัว สร้างความแตกต่างข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะการสนับสนุนต่อยอดพัฒนาข้าวอินทรีย์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามนโยบายภาครัฐ เพิ่มช่องทางการส่งออก ซึ่งการปรับพื้นที่มาตรฐานการเพาะปลูกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 ปี จึงสามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้ 100% ตามมาตรฐานที่สหภาพยุโรปให้การยอมรับ.