สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการส่งตัวผู้ได้รับบาดเจ็บไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย แต่ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกลับขอเลขบัตรประจำตัวประชาชนของคนเจ็บ โดยยังไม่ทำการรักษา ทำให้มีคนวิพากษ์วิจารณ์ การทำหน้าที่ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก 

ต่อมาผู้บริหารโรงพยาบาลดังกล่าวได้ชี้แจงว่า การขอเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก จากผู้บาดเจ็บ เพื่อนำไปตรวจสอบสิทธิ ไม่ได้ปฏิเสธการรักษา อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน แค่รอสแกนสมอง และส่งตัวไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่ง 

จากเนื้อข่าวดังกล่าว อาจจะเทียบเคียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ซึ่งมีการฟ้องร้องกันจนศาลฎีกามีการมีคำวินิจฉัยถึงหน้าที่การทำงานของโรงพยาบาลไว้น่าสนใจ กล่าวคือ โรงพยาบาลเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 หากโรงพยาบาลไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างดังกล่าว ย่อมเป็นการละเมิดต่อผู้ป่วย 

...

รายละเอียดเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11332/2555 

จำเลยเป็นผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล บุตรของโจทก์ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้ายชนแผงเหล็กกั้นทางโค้งปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก และผู้ขับขี่ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ บุตรของโจทก์มีอาการเจ็บปวด มีภาวะการบอบช้ำของสมองและโลหิตออกในสมอง จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แม้ไม่ปรากฏบาดแผลร้ายแรงที่มองเห็นจากภายนอก แต่พยาบาลเวรซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยกลับให้ผู้ช่วยพยาบาลตรวจค้นหลักฐานในตัวบุตรของโจทก์ว่ามีบัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ 30 บาท หรือบัตรประกันชีวิตหรือไม่ เมื่อไม่พบหลักฐานใด จึงสอบถามเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิที่เป็นผู้นำส่งว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อไม่มีคำตอบ จึงปฏิเสธที่จะรับบุตรของโจทก์ไว้รักษา โดยแนะนำให้ไปรักษายังโรงพยาบาลของรัฐ การที่พยาบาลเวรลูกจ้างของจำเลยปฏิเสธไม่รับบุตรของโจทก์เข้ารับการรักษาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 แต่กลับไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ 

พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,600,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมศาลทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสองเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นฎีกานี้ โดยในส่วนของค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสอง ส่วนค่าทนายความทั้งสามศาลให้เป็นพับ 

จากอุทาหรณ์ครั้งนี้ หากผู้ป่วยตกอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ ลูกจ้างและโรงพยาบาลไม่สามารถที่จะปฏิเสธการรักษาให้ผู้ป่วยได้ ตลอดจนหากมีความเสียหายเกิดขึ้น เนื่องจากการปฏิเสธการรักษาจากลูกจ้างของโรงพยาบาล ลูกจ้างและโรงพยาบาลจะต้องรับผิดร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ครับ 

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ 
Facebook: ทนายเจมส์ LK