จากกรณี สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. เร่งระดมกวาดล้างนกพิราบ พร้อมงัดกฎหมายเหล็กปรับไม่เกิน 25,000 บาท กับคนให้อาหารนกพิราบในที่สาธารณะ
น.สพ.เกษตร สุเตชะ หน่วยสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ในฐานะกรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ กทม. จับนกพิราบไปตรวจสอบและสุ่มตรวจเก็บตัวอย่างทั้งเก็บตัวอย่างมูลอุจจาระ น้ำลาย และเลือด เพื่อนำวิเคราะห์เชื้อโรคที่มีการติดเชื้ออื่นๆหรือไม่ เพราะโรคต่างๆจากนกพิราบมีอันตรายสามารถติดต่อจากสัตว์ไปสู่สัตว์และไปสู่คนได้ ยิ่งมีจำนวนนกพิราบมากขึ้นจะเพิ่มความอันตรายสูงขึ้น
“ล่าสุดเท่าที่ทราบ นกพิราบที่จับไปกักตัวไว้ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ครึ่งหนึ่งหรือ 50% เป็นโรคหลายชนิด มีทั้งเชื้อโรคฝีดาษในสัตว์ปีก โรคนิวคาสเซิล เชื้อราสมองอักเสบ และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ได้ หากไม่มีการป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ปีก นก ไก่ เป็ด ไม่ว่าจะเลี้ยงแบบปล่อยหรือขังในกรงโดนหมด แถมยังมีโรคพยาธิในทางเดินอาหาร ที่สามารถติดต่อไปสู่คนได้จากการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระนกพิราบ”
...
แต่กระนั้นกรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ติงว่า นกพิราบเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่นำเข้ามาบ้านเรา หากทาง กทม.จับไปแล้ว ไม่ควรปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ควรที่จะกักตัวไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยเชื้อโรค เพราะปล่อยแล้วนกเหล่านี้จะบินคืนกลับมาสู่ถิ่นเดิมโดยง่ายตามสัญชาตญาณนกสื่อสาร แม้จะไปปล่อยที่เชียงใหม่มันยังบินกลับมาได้เลย
“สำหรับบทลงโทษผู้ให้อาหารแก่นกพิราบหรือสัตว์จรจัดในที่สาธารณะ ที่มีอัตราโทษปรับสูงถึง 25,000 บาท และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น ในส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะใช้กับกรณีนกพิราบอย่างเดียว ควรที่จะนำมาใช้กับผู้ให้อาหารหมาและแมวจรจัดในที่สาธารณะด้วย เพราะการสำรวจของ กทม. เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีหมาและแมวจรจัดกว่า 600,000 ตัว แต่ปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเกินกว่าล้านตัวแล้ว จนส่งผลให้ปีที่ผ่านมา ทั้งประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 10 ราย และปีนี้ยังไม่ครบปี มีผู้เสียชีวิตไป 17 รายแล้ว” น.สพ.เกษตร กล่าว.