ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เพื่อลดการสร้างแรงกดดันให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น ผศ.ทินกร บัวพลู ผอ.ร.ร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ผู้บริหาร ร.ร.สาธิตในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 21 แห่ง ได้หารือเรื่องนี้ร่วมกัน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเป็นเรื่องใหญ่จะต้องมีการหารือกันอีกหลายครั้ง โดยเบื้องต้นอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนเป็นแบบผสมผสาน ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องช่วยกันคิด โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิต 3 แห่ง ที่มีผู้สนใจเข้าเรียนจำนวนมากต้องมาตกลงกันจะใช้วิธีไหน ซึ่งต้องไม่แตกต่างกันมากนัก
ผอ.ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม กล่าวต่อว่า สำหรับปีการศึกษา 2562 ทาง ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมยังคงจัดสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับชั้น ป.1 เหมือนเดิม เพราะโรงเรียนได้มีการเตรียมการล่วงหน้าไว้อย่างน้อย 6 เดือน ถ้าโรงเรียนจะเปลี่ยนแปลงอะไรจะต้องมีการวางแผน ทั้งนี้ การจัดสอบแต่ละครั้งต้องเป็นความลับ เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งโรงเรียนก็เครียดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการห้ามสอบนั้นควรจะแก้ปัญหาที่โรงเรียน กวดวิชาหรือติวเตอร์ หรือครูที่เรียกเก็บค่าเรียนแพงๆกับผู้ปกครอง แต่กลับมาบีบโรงเรียนไม่ให้จัดสอบ.