ม.รามคำแหง จัดนวัตกรรม "ฟาร์มกวางสมัยใหม่" ครบวงจร เนื้อที่ 200 ไร่ พร้อมดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ หวังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ ชี้เป็นอาชีพน่าจับตามอง...
วันที่ 26 ก.ย.61 น.ส.สุกัญญา ธีรเลิศกุล ที่ปรึกษาด้านการวิจัยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง จ.สุโขทัย จัดโครงการนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ มีการจัดการแบบครบวงจร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจหารายได้เสริม ภายในพื้นที่ 200 ไร่ แบ่งเป็นจุดเรียนรู้ตั้งแต่การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อขยายฝูง การเลี้ยงกวางตัวผู้เพื่อตัดเขาอ่อน การใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในฟาร์ม โรงเรือนการตัดเขาอ่อนกวางเคลื่อนที่ การทำอาหารหมักจากหญ้าเนเปียร์ที่นอกจากช่วยลดต้นทุน ยังทำให้กวางสุขภาพดี ต้านทานโรค แปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ ปุ๋ยหมักจากมูลกวาง อิฐประสานจากมูลกวาง โรงเชือดซึ่งได้รับการอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจากกรมปศุสัตว์
ด้าน ดร.มณี อาชวรานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า กวางที่นำมาศึกษามีทั้งสายพันธุ์ลูซ่า ซิก้า และกวางแดง ซึ่งสั่งมาจากออสเตรเลียและเวียดนาม โดยกรงที่ใช้แบ่งกวางแต่ละชนิดจะนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อฝูงกวางตกใจวิ่งชนจะทำให้ไม่บาดเจ็บ ล้มตาย ในเริ่มแรกโครงการมีกวาง 100 ตัว อัตราตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 30 ตัว ส่งผลให้ปัจจุบันมีปริมาณเพิ่มถึง 1,000 ตัว ซึ่งกวางทุกตัวภายในศูนย์ฯ จะมีสุขภาพดีแข็งแรง ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ใช้เลี้ยงจะเป็นหญ้าเนเปียร์หมักโปรตีน และการดูแลอย่างดี มีการเปิดเพลงให้ฟังเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือแตกตื่น ทำให้กินอาหารได้ปกติ
โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยให้เกษตรกร ปีละ 2 ครั้ง ทำให้เกิดเครือข่ายที่มีสมาชิกถึง 200 รายจากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอาชีพที่น่าจับตามอง เนื่องจากกวางกำลังจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดร.มณี กล่าวเสริม
...
สำหรับโครงการได้รับการสนับสนุนโครงการวิจัยบูรณาการนวัตกรรมเชิงประจักษ์ เพื่อพัฒนาต่อยอดการทำฟาร์มกวางสู่การเกษตรสมัยใหม่ ผ่านงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2561 และได้รับรางวัล Platinum Award ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ในปี 2561 ที่ผ่านมา.