“ดินถล่ม” หรือ Landslide หนึ่งในปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในเมืองไทยแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตผู้คน และทรัพย์สินมหาศาล ปัญหานี้ยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงตามสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศ

หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดภัยพิบัติดังกล่าว ไม่ต้องโทษเคราะห์กรรมใดๆ แต่ต้องโทษความประมาท เลินเล่อ หรือมักง่ายล้วนๆของคนเรานี่เอง ที่ดันอุตริไปก่อสร้างอาคาร ขุดดิน หรือถมดิน ...ตรงที่ลาดเชิงเขา!!!

ดังมีกรณีศึกษาให้เป็นบทเรียนตัวอย่างหลายเหตุการณ์ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายพื้นที่

เช่น กรณีดินถล่ม หรือแลนด์สไลด์ กับอาคารแห่งหนึ่งที่ดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อ 8 ปีก่อน และเมื่อปีที่แล้วในบริเวณเดียวกัน

หรือจะเป็นกรณีอาคารเรียนของโรงเรียน ตชด.เขาวัง ที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งแต่เดิมมีห้องเรียนอยู่ทั้งหมด 8 ห้อง หลังจากเจอฝนตกหนัก...จนดินถล่ม ห้องเรียนหายวับไปกับตา 2 ห้อง

กรณีเจ้าของที่ดินย่านป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ขุดหน้าดินขาย บริเวณใกล้กับแนวท่อส่งก๊าซ ซึ่งวิ่งคู่ขนานด้านบนกับสายไฟฟ้าแรงสูง จนกลายเป็นหน้าผา ที่เกิดจากบ่อดินเก่าเสื่อมโทรม ใกล้กับแนวดินไหลพังถล่มลงมา แม้จะมีการนำพลาสติกไปคลุมหน้าดินไว้ แต่เมื่อเจอฝนตกหนักก็เอาไม่อยู่

...

โรงแรมสยามบีช รีสอร์ท ที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เป็นอีกกรณีที่ไปปลูกสร้างอาคารบริเวณตีนเขา ซึ่งสร้างตอนที่ยังไม่มีข้อบังคับให้ต้องทำฐานแผ่ในพื้นที่เอียง ยามมีแรงกดมากระทำ จึงหนีไม่พ้นความเสี่ยง

หรือแม้แต่กรณีวัดถ้ำขาม ที่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งมีการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ที่หน้าผาหิน ซึ่งมีรอยแยกจากการวางตัวของชั้นหินในแนวนอน และมีบ่อน้ำอยู่ด้านบนไหลลงมาตามความลาดชัน

แต่ละกรณีตัวอย่างที่ยกมาสรุปสั้นๆได้ว่า เหมือนเอาชีวิตไปแขวนไว้กับเส้นด้ายทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การควบคุมมิให้มีการก่อสร้างอาคาร ขุดดิน หรือถมดินในบริเวณเสี่ยงภัยเหล่านี้ จึงเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะช่วยลดความสูญเสียจากการเกิดภัยพิบัติข้างต้น

แต่ปัญหาอยู่ที่ทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ใดๆใช้ควบคุมการกระทำที่ล่อแหลมของคนเราเหล่านี้

กรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและจัดทำ ร่างข้อบังคับและหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วย การขุดดินและถมดิน ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม และบริเวณที่ลาดเชิงเขา ขึ้น

โดยว่าจ้างให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ทำการศึกษา และเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปในร่างข้อบังคับ ทั้งในส่วนที่เป็นมาตรฐานทางวิศวกรรม และมาตรการทางกฎหมาย

สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาและจัดทำร่างข้อบังคับดังกล่าว บอกว่า

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดินอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีข้อกำหนด กรณีไปก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม หรือ แลนด์สไลด์ (Landslide)

แถมทุกวันนี้ในหลายพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม (จากการสำรวจล่าสุด ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มอยู่ถึง 6,000 หมู่บ้าน ใน 54 จังหวัดทั่วประเทศ) กลับมีการก่อสร้างอาคารต่างๆ โดยไม่มีการเว้นระยะของอาคารห่างจากตีนภูเขา บางแห่งขุดหน้าดิน รวมทั้งตัดไหล่เขากันอย่างไม่เกรงกลัวอันตราย

“ความท้าทายของเรื่องนี้ อยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะร่างข้อบังคับออกมาให้มีผลบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ และต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อนเกินไป ที่ผ่านมาผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถใช้กฎหมายได้ในทางปฏิบัติ เพราะต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากหลายอย่าง เช่น ต้องไปเก็บตัวอย่างดินบริเวณที่เสี่ยงภัยมาทำการทดสอบ”

สุทธิศักดิ์บอกว่า แต่ตามร่างข้อบังคับที่จัดทำขึ้นมาใหม่นี้ จะแก้ปัญหาโดยใช้วิธีตรวจวัดที่ชัดเจน และกำหนดเป็นค่าตัวเลขมาตรฐานลงไปเลย ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้งานจริง

...

เขายกตัวอย่างการขุดตัดพื้นที่บริเวณที่เป็นไหล่เขา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการพังถล่มของดินลงมา เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติ ตามร่างข้อบังคับฉบับใหม่ ได้ระบุไปเลยว่า การขุดตัดบริเวณดังกล่าว ต้องขุดตัดให้ออกมามีลักษณะที่ชัน และแบน ในอัตราส่วนมากกว่า 1 ต่อ 2 เป็นต้น

เพราะการตัดลาดดิน บริเวณพื้นที่ส่วนล่างของลาดเชิงเขา หรือที่เรียกว่า “ตีนลาดชัน”นั้น สามารถขุดตัดดินบริเวณลาดเชิงเขาได้ 1.5 เมตร โดยความลาดชัน หรือ Slope ( แนวดิ่ง : แนวราบ ) ต้องไม่น้อยกว่า 1 : 2 การขุดจึงจะปลอดภัยในทุกความสูงของลาดเขา

บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 หรืออัตราส่วน แนวดิ่งต่อแนวราบ 1 : 2 และมีความสูงของลาดชัน เกินกว่า 5 เมตร ห้ามก่อสร้างอาคารทุกชนิด

การก่อสร้างอาคารทุกชนิดที่มีความสูงมากกว่า 2 ชั้น บริเวณลาดเชิงเขา ซึ่งมีความชันเกินกว่าร้อยละ 35 หรือ อัตราส่วน 1 : 2.85 และมีความสูงของลาดชันกว่า 5 เมตร จะต้องมีการจัดทำ รายงานวิเคราะห์ความมั่นคงของลาดชัน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

กรณีการก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีรูปแบบของอาคารต่างกัน เช่น ระหว่างอาคารคอนกรีต อาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ หรืออาคารไม้ หากพื้นที่ลาดชันบริเวณภูเขามีความสูง 10 เมตร อาคารมีน้ำหนัก 10 ตัน จะต้องมีสโลป หรือค่าความลาดชัน ไม่น้อยกว่า 1 : 3 ตัวอาคารจึงจะมีเสถียรภาพที่มั่นคงปลอดภัย

นอกจากนี้ การขุดและถมดินบริเวณตีนลาดชัน หรือยอดลาดชัน ซึ่งมีความชันมากกว่าร้อยละ 35 หรือ อัตราส่วน 1 : 2.85 จะต้องมี รายการคำนวณ รวมทั้งการก่อสร้างอาคารบริเวณที่มีลาดชันเกินกว่า 1 : 2 ก็ต้องมี รายการคำนวณ ด้วยเช่นกัน จึงจะสามารถทำได้ เป็นต้น

...

สุทธิศักดิ์บอกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหาจากดินถล่มมีหลายอย่าง เช่น การเว้นระยะห่างจากอาคารกับจุดเสี่ยงอันตรายดินถล่ม หรือกรณีดินอิ่มตัวด้วยน้ำ คุณสมบัติในการรับแรงเฉือนของดิน ที่ผุพังมาจากกลุ่มหินชนิดต่างๆ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่มต่างกัน เช่น หินทราย หินแกรนิตและหินโคลน

เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนยุ่งยากในการนำเอากฎหมายไปใช้ในทางปฏิบัติ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก จึงได้เสนอผลการศึกษาต่างๆเพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำไปพิจารณาออกเป็นร่างกฎหมาย

“ถ้าร่างกฎหมายนี้กลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เมื่อใด คาดว่าจะช่วยลดความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ดินถล่มในประเทศไทย ได้เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากยอดความสูญเสียในปัจจุบัน” ดร.สุทธิศักดิ์ตบท้าย.