“ชีวิตสั้น ศิลปะนั้นยืนยาว” หรือ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ล้วนเป็นคำเตือนศิษย์ของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ศิลปินเอกชาวอิตาลี ผู้มาสร้าง คุณูปการด้านวิทยาการศิลปะให้กับไทย วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2561 นี้ หากท่านมีชีวิตอยู่ จะมีอายุ 126 ปี
ท่านเป็นจิตรกรชาวอิตาลี แต่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นอาจารย์และสร้างสรรค์ผลงานไว้ในประเทศไทยมากมาย บ้านพักของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ในประเทศไทยอยู่แห่งหนตำบลใด ล่าสุดมีคำยืนยันจากชาวศิลปากรว่าอยู่ที่ “บ้านอาจารย์ฝรั่ง”
บ้านอาจารย์ฝรั่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ทหาร เชิงสะพานกรุงธน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “สะพานซังฮี้ หากตั้งต้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กทม. ก็เดินข้ามถนนมา 1 ไฟแดง ข้ามสะพานลอยไปฝั่งเหนือ แล้วเดินเข้าไปในสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบกก็จะเห็นบ้านโดดเด่น
นายนิวัติ มหาบุณย์ ศิษย์เก่าศิลปากรผู้รับหน้าที่เข้ามาพัฒนาบ้าน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แสดงศิลปะ และร้านกาแฟ บอกว่า “บ้านหลังนี้ แต่ก่อนไม่มีใครทราบว่าเป็นบ้านใคร ทหารมาอยู่ก็ไม่ทราบ วันหนึ่งลูกสาวอาจารย์ศิลป์ในอิตาลีส่งภาพมาให้ดูว่าเป็นบ้านที่พ่อเขาเคยอยู่ เราก็ไม่รู้ว่าตัวบ้านอยู่ที่ไหน ก็มาเสาะหากัน สุดท้ายก็พบว่าเป็นบ้านหลังนี้ ท่านอยู่บ้านหลังนี้ 8 ปี”
และยังเล่าต่อว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทหารมาเปิดให้ประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมอยู่ช่วงหนึ่ง เปิดเฉพาะวันพุธ ทำให้เกิดความยากลำบากในการไปเยี่ยมชม เพราะคนส่วนใหญ่ทำงานกัน เมื่อไม่มีคนเข้าชมทหารก็เลยปิดบ้าน
“เราเลยเสนอโครงการไปว่าจะขอบูรณะและรักษาบ้านนี้อย่างไรให้คงอยู่เป็นอย่างดี เมื่อได้รับอนุญาตเข้ามาดูแล โดยในช่วงแรกให้ 3 ปี ก็เริ่มเข้าบูรณะ ชาวศิลปากรเรามีมัณฑนศิลป์ สถาปนิก และเป็นศิลปิน เราจะรู้เรื่องพวกนี้ดี เรามองบ้านทีแรกว่าทำไมไม่มีการดูแล เราเสียดายเพราะเป็นบ้านอาจารย์ เราจึงมาขอจัดการตรงนี้ โดยขอผ่านกรมธนารักษ์และกรมศิลปากร”
...
โครงการที่เสนอไปนั้น “ส่วนหนึ่งจะนำเสนอประวัติอาจารย์ศิลป์ ว่าท่านไม่ใช่แค่คนสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างเดียว ท่านเป็นประติมากรเอกของประเทศไทย และเป็นผู้มีองค์ความรู้สร้างศิลปะร่วมสมัย เราอยากนำเสนอตรงนี้แบบลูกศิษย์กับอาจารย์”
พร้อมเสนอแนวทางบูรณะ “อย่างสีบวม เราก็ถอดออก ล้างออก และเคลือบน้ำยาใหม่ให้คงอยู่อย่างเดิม ขัดพื้นใหม่ เราอยากทำให้ดี อยากให้คนเข้ามามีความสุข ส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟ หลังคา เพดาน เราเปลี่ยนใหม่ ให้ทุกคนเข้ามาสบาย แอร์เย็น เมื่อเข้ามาก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกิน เพราะเรามีอาหารคุณภาพดี เราอยากให้คนเข้ามาใช้มีความสุขได้อย่างเต็มที่ และเป็นที่ของครอบครัวพ่อ แม่ ลูก มาเดินด้วยกันได้”
ห้องต่างๆในตัวบ้านนั้น ชั้นหนึ่งทำเป็นร้านกาแฟ ชั้นสองเป็นนิทรรศการ “นิทรรศการของเราจะมีสองส่วน ส่วนเล่าเรื่องราวของอาจารย์ศิลป์ ว่าท่านมาอย่างไร ทำอะไร และเรื่องของลูกศิษย์ ท่านมีลูกศิษย์มากมาย ประเทศไทยเรามีศิลปะพัฒนาไปขนาดไหน อาจารย์ทำอะไร และลูกศิษย์ตอนนี้ทำอะไร”
ประวัติ ศ.ศิลป์ พีระศรี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ในเขตซานโจวันนี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อนาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี ท่านสามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)
การศึกษา ท่านศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี ได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ซึ่งต่อมาได้สอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์ และปรัชญา โดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรม
ในปี พ.ศ.2466 ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญ เงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ด้วยเหตุนี้จึงเดินสู่แผ่นดินสยามเพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2485 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนี กับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยขอควบคุมตัวท่านศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ไว้เอง และหลวงวิจิตรวาทการได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย โดยเปลี่ยนชื่อของท่านให้มาเป็น “นายศิลป์ พีระศรี” เพื่อคุ้มครองท่านไว้ ไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี
ศ.ศิลป์ พีระศรี ได้เริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นในระยะเริ่มแรกชื่อ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง และต่อมา ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรมีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดสอนเพียง 2 สาขาวิชาคือ สาขาจิตรกรรม และสาขาประติมากรรม โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก และได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย โดยการปั้นต้นแบบสำหรับพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472-2477 อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ.2484 พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี และการออกแบบพระพุทธรูปปางลีลา ประธานพุทธมณฑล ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2505 รวมสิริอายุได้ 69 ปี
สำหรับรายได้ที่นำมาบริหารจัดการ นายนิวัติบอกว่า “รายได้มาจากการจัดนิทรรศการ มีคนซื้อภาพส่วนหนึ่ง เราก็เอามาบำรุงรักษาบ้าน หนังสือมีจำหน่ายก็เอารายได้มาใช้ตรงนี้ และภาพที่นำมาติด เรามีสองกรณี กรณีแรกศิลปินมีภาพของอาจารย์จะมามอบอาจารย์ไว้ที่นี่เลยก็ได้ เราดูแลรักษาให้อย่างดี และกรณีที่สองเป็นภาพของลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์และชาวศิลปากรเอามาจัดแสดง”
คุณูปการของอาจารย์ศิลป์นั้น นายนิวัติบอกว่า “เมื่อก่อนเราอยู่ด้วยจิตรกรรมไทย ภาพเรื่องรามเกียรติ์ พุทธประวัติ ภาพในวรรณคดี จิตรกรรมดำเนินเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ต่อมาเมื่ออาจารย์ศิลป์เข้ามา ท่านเข้าใจศิลปะไทยและศิลปะยุโรปเป็นอย่างดี ท่านอายุ 26 เป็นซุปเปอร์ สตาร์แล้ว ท่านมาอยู่เมืองไทยก็เรียนรู้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อรวมกับองค์ความรู้เก่ามาผสมกันได้ พัฒนาร่วมกันได้ จึงเกิดเป็นองค์ความรู้ประกอบกันเข้ามาเป็นความรู้ใหม่ และกลายเป็นศิลปินเล่าเรื่องของสังคมไทย”
...
บ้านอาจารย์ฝรั่ง เปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 07.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
แม้จะเป็นสถานที่ราชการ แต่ก็เดินเข้าไปชมได้โดยไม่ต้องแลกบัตร เดินเข้าไปแล้วจะเห็นชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ มีรูปภาพอาจารย์ศิลป์ประดับอยู่ตามมุมต่างๆ เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบนจะพบว่ามีอยู่ 3 ห้อง คือห้องนิทรรศการ ห้องแสดงประวัติของอาจารย์ศิลป์ และห้องผลงานศิลปะของลูกศิษย์ หลานศิษย์อาจารย์ศิลป์
ตัวอย่างเช่น ภาพผลงานอาจารย์จันทนา แจ่มทิม ชื่อ ต้นไม้แห่งสัจธรรม เทคนิคลายรดน้ำลงรักปิดทอง ขนาด 180×180 ราคา 2,200,000 บาท เป็นต้น.