“คลินิกหมอครอบครัว (PCC)” โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เป็นบทพิสูจน์สำคัญสำหรับนโยบายบริการ “สุขภาพ” ที่จะเข้าถึงประชาชนคนไทยทุกครัวเรือน ทั้งในเขตเมือง...ชนบท ดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยใกล้ชิด ประดุจญาติ ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่สำคัญ...ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลประชาชน ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย จุดเด่นเป็น “ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง” ให้บริการแบบ “One Stop Service” ลดระยะเวลาการรับบริการ นับรวมไปถึงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสร้างระบบแก้ไขปัญหาวัยรุ่นใช้สารเสพติดแบบครบวงจร
พญ.ดวงดาว ศรียากูล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจปฐมภูมิ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์บอกว่า นโยบายคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) ของกระทรวงสาธารณสุขต้องการยกระดับบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิให้ประชาชนได้รับการรักษา...ส่งเสริมด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิดด้วยทีมหมอครอบครัว
ทีมฯประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ เปรียบเสมือนประชาชนทุกคนมีแพทย์ประจำตัวอยู่ในชุมชน ทางโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2559 โดยเป็น 1 ใน 8 ของคลินิกหมอครอบครัวในเขตชุมชนเมือง
...
น่าสนใจว่า...นโยบายนี้ทำให้ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองได้รับการจัดสรรบุคลากรทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทีมสหวิชาชีพ จนสามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการประชาชนในเขตเทศบาลทั้งเชิงรุก...เชิงรับ จนได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันประชาชนจำนวนมากตัดสินใจมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองแทนที่จะไปโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทางจริงๆ
“ถ้ามองในเชิงฟังก์ชันคลินิกหมอครอบครัวจะสกรีนผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลถือว่าเห็นภาพที่ชัดเจนในการช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยปี 2559 เรามีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการอยู่ที่ 800 คนต่อเดือน...ปี 2560 เพิ่มเป็น 1,000 คนต่อเดือน และปี 2561 เพิ่มเป็น 1,200 คนต่อเดือน”
รวมๆแล้วช่วยลดความแออัดที่ผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลปีละประมาณหมื่นราย...แม้จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง แต่คนที่มารับบริการครั้งแรกจะเลือกมาที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองมากกว่า
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสริมว่า คลินิกหมอครอบครัวเพื่อประชาชนเป็นนโยบาย สธ.ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในอัตราส่วนที่เหมาะสมตั้งแต่ปี 2559
“คลินิกหมอครอบครัว” 1 ทีม...ดูแลประชาชน 10,000 คน หรือราว 3,000 ครัวเรือน
ที่ผ่านมามีการดำเนินการกระจายในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะเขตเมืองที่มีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารับบริการในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)...โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) แต่หากมี “คลินิกหมอครอบครัว” จะช่วยลดความแออัด ลดการรอคอยในโรงพยาบาล...ซึ่งจะเปิดเป็น “คลินิกหมอครอบครัว” หรือ “ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง”
ถึงวันนี้นำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ รพ.ขอนแก่น, รพ.กำแพงเพชร, รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก, รพ.เพชรบูรณ์, รพ.น่าน, รพ.บุรีรัมย์, รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และ รพ.ตรัง
และ...ในวันที่ 18 กันยายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไปเป็นประธานเปิดศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา จ.เพชรบูรณ์
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ.บอกว่า ปี2559-2560 ได้จัดตั้งทีมหมอครอบครัวแล้ว 553 ทีม และในปี 2561 มีคลินิกหมอครอบครัวที่ผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 806 ทีม คิดเป็น 26% ของเป้าหมาย 3,250 ทีม โดยในปี 2562 ตั้งเป้าหมายจัดตั้งทีมหมอครอบครัวให้ได้ 1,170 ทีม หรือคิดเป็น 36% ของเป้าหมาย 3,250 ทีม
สำหรับเป้าหมายการจัดตั้งจะแบ่งเป็น 3 ระยะ...ระยะสั้น ลดความแออัด ลดการใช้บริการที่โรงพยาบาล 60%...ลดการรอคอยในโรงพยาบาลใหญ่ ลดการนอนโรงพยาบาล 15-20%
ถัดมา...ระยะกลาง ลดการป่วยช่วยป้องกันและควบคุมโรค ลดการตายของทารกแรกเกิด 10-40% เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ และ ระยะยาว...ลดค่าเดินทางของประชาชนไปโรงพยาบาล 1,655 บาทต่อคน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 25-30% และช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ในปี 2562 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการปรับบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับ “ปฐมภูมิ” ที่มีแพทย์ประจำครอบครัว ทั้งการปรับสัดส่วนการจ่ายชดเชยบริการปฐมภูมิ เพื่อสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัวเพิ่มขึ้น (Primary Care Cluster: PCC) เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาล
...
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีงบประมาณ 268.64 ล้านบาท จะทำให้เกิดการเข้าถึงบริการระดับปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น ทั้งบริการใน “หน่วยบริการ” และ “บริการ” ในชุมชน ในเขตและนอกเขตกรุงเทพมหานคร
ข้อกังวลสำคัญ...การมีคลินิกหมอครอบครัวจะซ้ำซ้อนกับการทำงานของ “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” หรือ “รพ.สต.”? ประเด็นนี้ต้องเริ่มทำความเข้าใจกันที่...การทำงานว่าเป็นการเสริมกันในการทำงานให้บริการเพื่อประชาชนมากกว่า เพียงแต่ว่า...คลินิกหมอครอบครัวจะช่วยดูแลในกลุ่มเมืองใหญ่ที่มีประชากรมาก และจะเน้นทำงานเชิงส่งเสริมป้องกันโรค...“การจัดบริการรูปแบบนี้ถือเป็นการพลิกโฉมการบริการด้านสาธารณสุขแบบใหม่ที่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น เพราะทีมหมอครอบครัว จะรู้ประวัติสุขภาพของประชาชนที่ตนเองดูแล จะรู้ว่าครอบครัวนี้มีสมาชิกกี่คน...มีโรคประจำตัวอะไร หรือมีความเสี่ยงก่อโรคอย่างไร”
นพ.ปิยะสกล ยกตัวอย่างอีกว่า...หากรัฐบาลมีนโยบายป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทางทีมหมอครอบครัวก็จะทราบว่าต้องไปส่งเสริมอย่างไร และทำงานร่วมกับ รพ.สต.ในการให้บริการอย่างเหมาะสม
บทบาทของ “คลินิกหมอครอบครัว” เกี่ยวโยงกับการส่งเสริมสุขภาพ ลดจำนวนการเจ็บป่วยของประชาชนที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาล คุณหมอดวงดาว ย้ำว่า โรคที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองโฟกัสเป็นพิเศษคือกลุ่มโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จากการเก็บข้อมูลตลอดสองปีที่ผ่านมา พบว่า...“ด้วยกระบวนการดูแลให้ความรู้กลุ่มเสี่ยงที่ดำเนินการอยู่ ทำให้อุบัติการณ์ของกลุ่มเสี่ยงที่เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มป่วยมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุบัติการณ์โดยรวม พูดง่ายๆ...จำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงลดลงเล็กน้อย”
...
งานที่ยังต้องก้าวไปอีกขั้น...ยังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนโรคกับศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง เช่น อาจไปคลินิกที่อื่น ไปซื้อยาเอง หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งได้ตั้งเป้าว่าในระยะเวลา 2 ปีนี้...จะขยายการคัดกรองค้นหาให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้มีตัวเลขที่แท้จริง
“ขอเวลาสองปีจะชัดขึ้น เราค่อนข้างมั่นใจว่าด้วยกระบวนการดูแลที่เรามี การดูแลแบบเกาะติดให้ความรู้ กระตุ้นคนในครอบครัวให้เป็นแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพ ฯลฯ จะช่วยลดจำนวนการเจ็บป่วยได้ เพียงแต่เราต้องหาเขาให้เจอแล้วเอาเข้ามาอยู่กระบวนการ” พญ.ดวงดาว ว่า
นี่คือบทพิสูจน์สำคัญของ “ทีมหมอครอบครัว” ในการทำงานแบบใหม่เพื่อสร้างสิ่งดีๆใหม่ๆ เพื่ออนาคต...“ระบบสุขภาพประเทศ” ที่เข้มแข็ง.