สืบเนื่องจาก “สกู๊ปข่าวหน้า 1” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เสนอข่าวชาวกาญจนบุรีรวมพลังต่อต้านกรณีรัฐส่อแววให้เอกชนเช่าพื้นที่โรงงานกระดาษต่อ ลงฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม นั้น ล่าสุดภาครัฐรับฟังเสียงชาวบ้าน และส่งเรื่องถึงกรรมาธิการการศาสนาฯ ให้ศึกษาข้อมูลแล้ว
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองเก่า ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า เมืองนี้ย้ายมาจากบริเวณเมืองกาญจนบุรีเก่าที่ทุ่งลาดหญ้า มาตั้งอยู่ ณ บริเวณที่แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่มาบรรจบเรียกกันว่า “ปากแพรก”
เมืองที่ปากแพรกนี้ เดิมคงมีลักษณะดังในหนังสือเสด็จประพาสไทรโยค พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่ว่า “...เมืองกาญจนบุรีนี้แต่ก่อนมาเป็นระเนียดไม้ตลอดมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมาขัดทัพก็ยังเป็นระเนียดไม้อยู่...” ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นหน้าด่านแรกที่ต้องต้านทานพม่าและอังกฤษ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างกำแพงเมืองกาญจนบุรีขึ้น
ดังปรากฏตามเอกสารว่า “...ครั้นเสร็จการโสกันต์แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม ออกไปดูที่สร้างป้อมกำแพงขึ้นที่เมืองกาญจนบุรี เกณฑ์ให้พวกรามัญทำอิฐ ปักหน้าที่ให้เลขเมืองราชบุรีเลขเมืองกาญจนบุรีก่อกำแพงพระยากาญจนบุรีเป็นแม่กองทำเมือง...”
และต่อมา เมื่อพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ สงครามระหว่างไทยกับพม่าก็สิ้นสุด กำแพงเมืองกาญจนบุรีจึงถูกลดความสำคัญลง และชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
...
สำหรับหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถึงตัวแทนชาวกาญจนบุรี ความตอนหนึ่งว่า “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้ว มีดำริมอบหมายให้เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การขอให้ฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุ อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตโบราณสถาน ซึ่งมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม กรณีนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”
ดังนั้น “จึงส่งเรื่องร้องเรียนของท่านไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามข้อบังคับ...ต่อไป”
คำว่า “เขตโบราณสถาน” นั้น หมายถึงเมืองเก่าที่มีกำแพงเมืองปรากฏอยู่ ปัจจุบันส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานกระดาษ ครูเล็ก บ้านใต้ หรือนายประพฤติ มลิผล อธิบายเรื่องเมืองเก่าของจังหวัดกาญจนบุรีว่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2374 สมัยรัชกาลที่ 3
เมืองแห่งนี้ย้ายมาจากเมืองเก่าเดิมซึ่งอยู่ที่บ้านท่าเสา ทุ่งลาดหญ้า หลังจากสงครามไทยกับพม่าค่อนข้างจะยุติลงแล้ว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่า ภูมิประเทศตรงนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ความเจริญเริ่มเข้ามา การตั้งรับข้าศึกชัยภูมิไม่ค่อยดี เพราะกำแพงเมืองเก่ามีสองด้าน และมีด้านที่เป็นแม่น้ำแควน้อยกับลำตะเพิน และกำแพงเก่านั้นก็ไม่ได้ก่ออิฐ เพียงแต่นำเอาก้อนอิฐแม่น้ำมากองเป็นเชิงเทินเท่านั้น จึงย้ายเมืองมาอยู่ที่ปากแพรก ซึ่งก็คือเมืองที่เหลือกำแพงอยู่และมีโรงงานกระดาษอยู่ในปัจจุบัน
เอาเข้าจริง “กำแพงเมืองเก่าที่สร้างแทบไม่ได้ใช้งานเลย ต่อมาสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลหยุหเสนา ท่านต้องการสร้างโรงงานกระดาษ จึงสร้างขึ้นในตัวเมืองเก่า เริ่มสร้างราวปี พ.ศ.2478 เสร็จ 2481 ผลิตกระดาษต่างๆอย่างกระดาษทำแบงก์ เป็นต้น”
การสร้างโรงงานกระดาษ “กำแพงส่วนหนึ่งถูกทุบทิ้งไป เพราะว่าใช้พื้นที่สร้างอาคารโรงงาน ส่วนที่ทุบไปแล้วยังพอหาภาพเก่าๆได้ อาคารที่สร้างใช้เป็นสำนักงาน เป็นตัวอาคารต่างๆอยู่ในกำแพงเมืองครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งอยู่ด้านนอกตัวเมืองออกไป พื้นที่เมืองส่วนหนึ่งประชาชนก็ปลูกบ้านติดกำแพง เอากำแพงด้านหนึ่งเป็นรั้วบ้าน แปะเป็นเพิงอยู่เลยก็มี บ้านผมเด็กๆก็อยู่ตรงนั้น หลังบ้านก็ใช้กำแพงเมืองเหมือนกัน”
ครูเล็กบอกว่า “ผมเกิดมาเจอโรงงานกระดาษ พ่อแม่ทำงานอยู่ในนั้น ผมเกิดที่นั่น เติบโตที่นั่น วิ่งเล่นอยู่ในโรงงานกระดาษ ผมหลับตาเดินได้เลย รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน”
และด้วยสำนึกรักและหวงแหนโบราณสถาน “ผมเป็นคนแรกๆ ที่ตั้งกระทู้ว่า กำแพงเมืองน่าจะเปิดมาตั้งนานแล้ว เพราะถูกปิดไปราว 30 ปี เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา มีงานย้อนรอยการสร้างเมือง พวกเราช่วยกันเปิดหญ้าให้เห็นกำแพงเมือง ผมคิดว่าทำอย่างไรจะเปิดได้หมด กำแพงเมืองนี้ ส่วนหนึ่งกรมศิลปากรไปบูรณะมาแล้ว แต่หญ้าขึ้นรกหมดเลย ผมพยายามรณรงค์มาหลายปี พอดีสัญญาเช่าของเอกชนหมดในปี พ.ศ.2560 พวกเราเลยได้โอกาส”
...
อาคารและพื้นที่โรงงานกระดาษ ในฐานะคนเมืองกาญจน์อยากเห็นอะไรในพื้นที่ที่อาจจะได้มานั้น ครูเล็กบอกว่า “ภาคประชาชน เห็นว่า เมื่อหมดสัญญาแล้ว พื้นที่กลางเมืองมันน่าจะทำอะไรก็ได้ให้ชาวเมืองกาญจน์ได้ใช้ประโยชน์ จะเป็นอะไรก็ได้ ภูมิบ้านภูมิเมือง อย่างพี่เนาวรัตน์ต้องการทำก็ได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้เป็นของชาวบ้านเราจริงๆ ไม่ใช่บริษัทเข้ามาสร้าง”
ด้านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีศิลปินแห่งชาติ พลังหนึ่งของคนเมืองกาญจน์ยืนยันเจตนาเดิมว่า “เราจะทำหอศิลป์ จะใช้คำว่าภูมิบ้านภูมิเมือง แต่จะทำอย่างนั้นได้ มันต้องมีองค์การ การบริหารจัดการ เราใช้คำว่า ไตรภาคี มีราชการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมรวมกันเป็นสามส่วน มาร่วมกันบริหารจัดการ ทำแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมเหมาะสมที่สุด จะได้เป็นธุรกิจที่นำดอกผลมาเลี้ยงตัวเอง”
“เรามั่นใจว่าทำได้เพราะเมืองกาญจน์เป็นเมืองท่องเที่ยว เราต้องมีภูมิบ้านภูมิเมืองเป็นแหล่งรองรับเพื่อให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นห้องเรียน นักเรียนต้องมาดูว่าเรามีอะไรบ้าง เรื่องราวต่างๆจะผ่านงานศิลปะ ไม่ใช่ทางการ ศิลปินเขามีไอเดียที่จะทำให้น่าดู ตื่นตาตื่นใจ”
...
ด้านนักวิชาการด้านวัฒนธรรม อาจารย์ฟ้อน เปรมพันธุ์ อาจารย์ม.ราชภัฏกาญจนบุรี บอกว่า ชาวกาญจน์มีคณะกรรมการเมืองเก่าอยู่อีก 1 ชุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานราชการ และประชาชนเข้ามาร่วม คณะกรรมการส่วนนี้ยังสามารถช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้าไปเพิ่มเติมได้ภายหลัง
“ครม.มีมติแล้วให้เป็นเมืองเก่า ทำให้บริหารจัดการพื้นที่โรงงานกระดาษง่ายขึ้น เพราะมีตัวหลักที่จะผลักดันให้ปากแพรกและโรงงานกระดาษหลอมรวมกัน ให้ภาคประชาชนเข้าไปทำงาน ทำให้มีความอ่อนตัว ทางกฎหมายมากกว่ากรมศิลปากร”
ส่วนของราชการที่จะเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการ ถ้าพื้นที่โรงงานกระดาษได้รับอนุญาตให้ชาวบ้านดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ของชาวกาญจน์ หัชชพร เสถียรุจิกานนท์ บอกว่า อบจ.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว เพื่อขอใช้พื้นที่แห่งนี้สำหรับเป็นปอดเมือง
“หลังจากภาคประชาชนต่อสู้เรื่องนี้จนสำเร็จตามมุ่งหมายแล้ว คาดว่าจะมีสามภาคส่วนคือ รัฐ เอกชน และประชาชน เข้ามาร่วมกันบริหารจัดการ หน่วยงานราชการอย่าง อบจ. จะมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของสามภาคส่วนว่า ส่วนไหนจะเป็นอะไร คงไม่มีใครนำใคร ทั้งสามต้องคุยกันด้วยเหตุผล”
และสรุปว่า “เราต้องเอาส่วนที่เป็นไปได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อชาวกาญจนบุรี”.