“เกษตรกรไทย” วันนี้ความท้าทายมีรอบด้าน...ภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...“ศัตรูพืช” ที่ระบาดรุนแรงขึ้น ทนดินฟ้าอากาศ สารเคมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ “อายุเกษตรกร” ที่เฉลี่ยแล้ว 50 ปีขึ้น...ที่จะส่งผลต่อช่องว่างความยั่งยืนของอาชีพนี้ในอนาคต
ความน่ากังวลใจจึงไม่ใช่แค่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ราคาผลผลิตตกต่ำ...ยิ่งทำยิ่งจนยิ่งเป็นหนี้เป็นสินเท่านั้น หากแต่จะส่งต่อความยั่งยืนของภาคการเกษตรประเทศไทยไปสู่รุ่นลูกๆหลานๆสืบไปได้อย่างไร?
สภาพปัญหานับตั้งแต่ปี 2541 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและภาคเกษตรกรรม พบว่า ประชากรภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงประมาณปีละ 400,000 คน ทั้งจากการไม่มีผู้สืบทอดในอาชีพเกษตร การย้ายสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการในเขตเมือง และการเริ่มเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย
โครงสร้างประชากรในภาคเกษตรกรรมส่งผลถึงความมั่นคงในการผลิตอาหารของประเทศทั้งในระยะกลาง...ระยะยาว มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ประชากรในภาคเกษตรกรรมมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำกว่าประชากรนอกภาคเกษตรกรรม เพราะการศึกษา...ทักษะความสามารถของเกษตรกรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี...เทคนิคที่ทันสมัยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ
...
สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในอนาคตข้างหน้าการเกษตรจะต้องเปลี่ยนแปลงเพราะเทคโนโลยีต่างๆเปลี่ยน การทำเกษตรก็ต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้กำลังคน เทคโนโลยี ความรู้ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการผลิต
การเปลี่ยนในอีก 5 ปี...10 ปีข้างหน้า เมื่อถึงวันนั้นวันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปหมดแล้ว สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนตามทันทีก็คือทำอย่างไรให้ “คน” ตามไปให้ทัน
“การทำการเกษตรต้องมีคนเข้าไปเกี่ยวข้อง คนจะแบ่งเป็นสองส่วน คนในวงการเกษตรก็คือพี่น้องเกษตรกร น่าเป็นห่วงว่าพี่น้องเกษตรกรเราในวันนี้อายุเฉลี่ยกว่า 50 ปีขึ้นทั้งนั้น หรือเกือบจะ 60 ปีก็ว่าได้”
เอาแค่ในอีก 5 ปีข้างหน้า “เกษตรกรไทย” ก็จะมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือจะเกิดช่องว่างกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาซึ่งจะมีไม่มาก ผลต่อเนื่องก็คือจะเกิดการใช้พื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่เราจะต้องสร้าง “เกษตรกรรุ่นใหม่” ขึ้นมาทดแทน เพื่อรองรับ การขยายตัวขึ้นของอายุเฉลี่ยเกษตรกรไทย
ขณะเดียวกันคนส่วนที่สองก็คือ “คนในส่วนราชการ” ที่ต้องปรับตัว เตรียมพร้อม
“ในส่วนข้าราชการกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า ในห้าปีนี้จะมีคนเกษียณราชการเป็นพันคนอัตราเจ้าหน้าที่หลักคือ...นักส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ เกษตรตำบล เกษตรอำเภอทั้งหลายที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ปีนี้ในจำนวน 447 คน เป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรถึง 305 คน...คิดเป็นสัดส่วนที่สูงมาก”
หากไม่สามารถสร้าง “คนรุ่นใหม่” ที่เป็น “นักพัฒนาการเกษตร” หรือ “นักส่งเสริมการเกษตร” ที่ดีพอ และสามารถที่จะรองรับงานได้ทัน ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญยิ่ง
เมื่อศึกษาลงลึกโครงสร้างอัตรากำลังของกรมฯ ดูทั้งคุณวุฒิ โครงสร้างอายุ รวมถึงโครงสร้างตำแหน่งกำลังหลักทั้งหลาย จึงมีความพยายามปรับอยู่ 2 ส่วน...ส่วนแรกข้าราชการกรมฯให้มีลักษณะพิเศษ
ฝากผีฝากไข้ไว้กับข้าราชการรุ่นใหม่อนาคตกรมส่งเสริมการเกษตร ที่อยากจะให้เรียกว่า “นักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ (Future DOAE)” จะเป็นกลุ่มคนที่อายุไม่เกิน 35 ปี รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
“ถ้าสามารถพัฒนาคนเหล่านี้ให้เปลี่ยนกระบวนการทางความคิด เพิ่มความชำนาญมากขึ้น กำหนดกรอบวิธีการคิดที่จะต้องคิดนอกกรอบหรือทำอย่างไรอย่างมีเหตุมีผล เขาจะอยู่รับราชการต่อไปอย่างน้อยอีก 25 ปี...เป็นกำลังหลักให้กรมฯในอนาคต เตรียมข้าราชการเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป”
“50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร ปฏิบัติกับเกษตรกรดุจญาติมิตร” นอกจากต้องเปลี่ยนในส่วนของตัวเกษตรกร ต้องเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ด้วยให้มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น รองรับความต้องการเกษตรกรได้
ถัดมา...ปรับกลุ่มข้าราชการบรรจุใหม่ตั้งแต่ปีแรก เดือนแรก วันแรก ให้มีวิธีคิดวิธีการทำงานอย่างไรที่จะรองรับ...ข้าราชการเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้บริหารระดับสูง...น้องๆข้าราชการบรรจุใหม่ระดับผู้อำนวยการกรม ผู้อำนวยการศูนย์ อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 45-55 ปี...
...
“กลุ่มนี้ก็จะมีรูปแบบที่จะพัฒนาอีกแบบหนึ่งให้มีความคิด มองภาพรวมให้ออกในการบริหารจัดการ เพราะเป็นกลุ่มหลักที่จะเคลื่อนขึ้นมา เป็นผู้บริหารกรมในอนาคต จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการทำงานด้านการเกษตร...ที่สำคัญปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้ประกอบการที่จะสามารถบริหารธุรกิจเกษตรของเขา ได้...การทำตรงนี้จะต้องวางแผนกันระยะยาวที่จะขับเคลื่อนไป”
อธิบดีสมชาย ย้ำว่า ความท้าทายสำคัญในอนาคต การเกษตรรูปแบบ เดิมๆจะเปลี่ยนไปแล้ว เกษตรกรมีพื้นที่ขนาดเล็กลง ขณะที่ความต้องการด้านผลตอบแทน ด้านการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กจะต้องสามารถทำการผลิตให้ได้ อยู่ได้ พอที่จะมีรายได้พอเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ วันนี้...หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า “ชาวนา” ทำนา “ไม่ขาดทุน” แต่ “เงิน” ที่ได้ ก็คือ “กำไร” ไม่พออยู่ได้ทั้งปี เพราะ “ค่าครองชีพ” สูงขึ้น
สมมติว่าทำนาลงทุน 4,000 บาท ได้กำไรมาไร่ละ 2,000 บาท ทำ 10 ไร่ได้เงิน 20,000 บาท แต่ต้องอยู่ไปอีก 6 เดือนหรือ 8 เดือน เพื่อให้อยู่ได้ครบปีหรือทำนาฤดูการผลิตใหม่ปีหน้า...ค่าใช้จ่ายไม่พอชักหน้าไม่ถึงหลัง นี่คือความท้าทายสำคัญของเกษตรกรไทยที่จะต้องเพิ่มผลิตภาพด้านการเกษตรให้มากขึ้น
...
“ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแม่นยำ ลดการอาศัยพึ่งพาดินฟ้าอากาศ ลดความเสี่ยงต่างๆให้น้อยลง ลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อที่จะได้ทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ”
ความท้าทายสำคัญอีกเรื่อง วันนี้ความต้องการอาหารเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเรื่อง “ราคา” เท่านั้น แต่เรื่อง “สุขภาพ” เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ อย่าได้แค่ทำเพื่ออยากได้ผลผลิตมากๆ สูงๆ และหวังว่าจะได้ราคาดี ถ้าสินค้าไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตามต้องการก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบกันใหม่
“อยากฝากว่าเราต้องทำคู่ขนาน พัฒนาการเกษตร...ในเรื่องของคนพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่...ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ทำมาแล้วกว่า 3 ปีมีเกือบ 8,000 ราย เกิดเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นในแต่ละภาคมากมาย บวกกับพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ในขณะเดียวกันก็เกี่ยวโยงไปถึงระบบการทำการเกษตรที่ต้องปรับจากที่เคยทำเพื่อพออยู่พอกินเท่านั้น ถ้าจะทำเพื่อเลี้ยงตัวให้ได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการจัดการ”
กิจกรรมบางอย่างต้องลงทุนเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่ดี จัดการเทคโนโลยีให้เกิดความแม่นยำเหมาะสมให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่การผลิตที่สูงขึ้นรองรับการขยายตัวของค่าครองชีพที่สูงขึ้น...เดินหน้าควบคู่กันไป
อนาคตประเทศไทย ...เมืองอู่ข้าวอู่น้ำจะต้องดำรงคงอยู่ต่อไป วันนี้ เราอยู่นิ่งไม่ได้...เราไม่เปลี่ยนแต่โลกเปลี่ยน เราจะถูกบังคับให้เปลี่ยนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามา เราเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้...ทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมตัวรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าให้เร็วขึ้นดีขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้น
“เมืองไทย” ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมอู่ข้าวอู่น้ำมีเงื่อนปัญหาสำคัญเสมือนทางบังคับ เป็นเส้นทางที่ท้าทายยิ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้ผลจะเป็นอย่างไรไม่นานเราคงได้เห็น.
...