ปกติการเลี้ยงปลากะพง เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงระยะสั้นแค่ 6 เดือน จนได้ไซส์ตัวละ 7-9 ขีด จะจับขาย เพราะเป็นขนาดที่ร้านอาหารทั่วไปต้องการ
แต่กลุ่มเครือข่ายปลากะพงยักษ์แปลงใหญ่ ต.บางเกลือ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กลับฉีกแนวการตลาด ใช้เวลาเลี้ยงไม่น้อยกว่า 18 เดือน ไปจนถึง 3 ปี เพื่อให้ได้ปลากะพงขนาดจัมโบ้ ตัวละ 5-10 กก.
ถือเป็นที่เดียวในโลกที่มีการเลี้ยงปลา กะพงให้ได้ขนาดนี้...ที่อื่นๆจะมีให้ซื้อหา แต่ล้วนจับมาจากธรรมชาติ จากทะเลเท่านั้น
“เราหันมาใช้วิธีเลี้ยงแบบนี้ เพราะถ้าทำแบบคนอื่นมีแต่เสี่ยงราคาตก สินค้าล้นตลาด โชคดีว่าพื้นที่ฉะเชิงเทราสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้เลี้ยงได้ตัวใหญ่ แม้จีน ไต้หวัน เวียดนาม จะเลี้ยงได้เหมือนกัน แต่ไม่สามารถเลี้ยงได้ยาวข้ามปีเหมือนบ้านเรา เนื่องจากเจอภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย ยิ่งเจอภัยหนาวปลามักจะตาย”
นายประโยชน์ โสรัจจกิจ ผจก.กลุ่มเครือข่ายปลากะพงยักษ์แปลงใหญ่ บอกว่า จากจุดแข็งของธรรมชาติที่เอื้ออำนวยให้เลี้ยงปลากะพงได้ไซส์ใหญ่ เลยเป็นที่มาให้กลุ่มมีธุรกิจแปรรูปปลากะพงป้อนตลาดที่ปลากะพงไซส์เล็กไม่สามารถไปถึงได้...เพราะปลาไซส์
...
ไม่ถึงกิโลจะใช้ในร้านอาหาร นำมาแปรรูปตัดแยกชิ้นได้เนื้อน้อยไม่เหมือนกะพงไซส์ยักษ์ แล่ออกมาเป็นชิ้นๆ หัวขายตลาดร้านอาหารข้าวต้มหัวปลา เนื้อหั่นเป็นชิ้นๆส่งห้างซุปเปอร์มาร์เกตหางส่งร้านอาหารทั่วไป
ถึงต้นทุนจะสูง ต้องเลี้ยงนาน ค่าอาหารเยอะ แต่ตอบแทนคุ้มค่า ความเสี่ยงเรื่องราคาร่วงไม่มี เพราะถ้าราคาไม่ดี ไม่ขาย เลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งเลี้ยงยิ่งโต อัตรารอดสูงกว่าเลี้ยงปลาเล็ก
ยิ่งถ้ารู้จักเทคนิคเจาะเลือดออกจากตัวปลา ทำให้ไร้กลิ่นคาว นอกจากแปรรูปแล้วจะเก็บรักษาไว้ได้นาน ยังจะเป็นที่ต้องการของตลาด ยิ่งขายได้ราคา
หลังจากได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เมื่อปี 2561 ด้วยสมาชิก 32 ราย พื้นที่รวม 555 ไร่ ได้ผลผลิต 7,000 ตันต่อปี นำปลามาแปรรูป แบ่งขายเป็นแพ็ก แพ็กละครึ่ง กก. ขายส่งแพ็กละ 470 บาท...สรุปแล้วขายได้ตัวละนับพันบาท
นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง เผยว่า กลุ่มเครือข่ายปลากะพงยักษ์แปลงใหญ่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการทำประมงแปลงใหญ่ ตามยุทธศาสตร์ 5 ปี (2560-2564) ที่ต้องทำให้ได้อย่างน้อย 300 แปลง ล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว 77 แปลง สมาชิก 4,667 ราย มีพื้นที่รวมกัน 48,000 ไร่... ฟาร์มประมงแปลงใหญ่ของเกษตรกรทุกรายจะได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมประมง มีการหาตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน เพราะได้ทำ MOU เข้าสู่ครัวการบินไทยไว้เรียบร้อยแล้ว.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน