ชาวบ้าน อ.เกาะช้าง จ.ตราด กว่า 60% อาศัยทะเลทำอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน...!
ทุกคนจึงร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรฯชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างปะการังเทียม และ “ซั้งเชือก” เป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ล่าสุด นายทศพล สินยบุตร นอภ.เกาะช้าง จึงนำคณะเข้าเยี่ยมชม
ทั้งนี้ “ซั้งเชือก” หรือ หญ้าเทียม เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ทำขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล และเป็นแหล่งฟักตัวขยายพันธ์ุของสัตว์น้ำวัยอ่อนบริเวณแนวชายฝั่งทะเล
ช่วงวันสำคัญๆ หน่วยงานภาครัฐมักร่วมกับ อบต.เกาะช้างใต้ ผู้นำชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ และชาวบ้านพื้นที่หมู่ที่ 2-5 ต.เกาะช้างใต้ ร่วมทำซั้งเชือกนำไปวางตามจุดต่างๆในทะเล ประมาณ 50-100 ชุด
นายจักรกฤษณ์ สลักเพชร นายก อบต.เกาะช้างใต้ เผยว่า ที่ผ่านมา อบต. ผู้นำชุมชน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดทำ “ซั้งเชือก” จำนวน 90 ชุด เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ
โดยนำท่อพีวีซียาวประมาณ 1.50 เมตร มาเจาะรูให้รอบแล้วเทคอนกรีตยึดติดเป็นฐานแนวตั้งในยางรถยนต์ ใช้เชือกไนลอนเส้นเล็กร้อยรูผูกติดกับท่อพีวีซีอีกครั้ง จึงนำไปวางลงใต้ท้องทะเลที่สำรวจไว้
ในระดับความลึกของน้ำทะเล 6-8 เมตรขึ้นไป เมื่อกระแสน้ำพัดผ่านเชือกจะพลิ้วไหวไปมาคล้ายกับหญ้าทะเล นำพาปลาขนาดเล็กหลายชนิด สัตว์ทะเลต่างๆว่ายเข้าไปอยู่อาศัย หรือหลบซ่อนตัวจากภัยต่างๆ
นายฐิติพงศ์ ศรีบุญจิตร ส.อบต.หมู่ 3 ต.เกาะช้างใต้ กล่าวว่า จากการดำสำรวจจุดที่เคยวาง “ซั้งเชือก” พบมีปลาอาศัยหลายชนิด และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สามารถออกเรือไปทำประมง หรือตกปลามาบริโภคในครัวเรือนได้
นอกจากนี้ยังลดปัญหาการทำโพงพางดักสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันชาวบ้านยังมีส่วนร่วมอนุรักษ์สัตว์น้ำ จากการเป็นหูเป็นตาแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการลักลอบทำประมงโดยผิดกฎหมาย
...
ถือได้ว่าเป็นพลังแห่งการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลให้อุดมสมบูรณ์ไม่สูญหาย...!
วรโชติ ระลึกชอบ / รายงาน