“ข้อเข่า”...ใครคิดว่าไม่สำคัญ หากเกิดปัญหาหลังผ่าตัดเปลี่ยน...“ข้อเข่าเทียม” ไม่ว่าจากข้อเทียมหลวม ได้รับอุบัติเหตุ หรือเกิดการติดเชื้อของข้อเข่าเทียมที่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน...เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วข้อเข่าเทียมสามารถใช้งานได้นาน โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ อย่างไรก็ตาม บางครั้งข้อเข่าเทียมอาจจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข?
นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ต้องมีการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมประกอบด้วย 2 สาเหตุหลักใหญ่ๆ คือ
“จากการติดเชื้อ” และ “ไม่ติดเชื้อ”
สาเหตุจากการไม่ติดเชื้ออาจมาจากปัจจัยดังนี้คือ หนึ่ง...ข้อเข่าเทียมหลวมหรือหมุน วางผิดตำแหน่ง เกิดจากตำแหน่งของข้อเข่าเทียมจากการผ่าตัดครั้งแรกมีปัญหา เช่น ข้อเทียมวางเอียงมากกว่า 3 องศา ทำให้ข้อที่ใส่เสียเร็ว หลวมเร็ว จากเดิมอายุการใช้งานเฉลี่ย 15-20 ปี อาจอยู่ได้ประมาณ 5-10 ปี
หรือข้อเทียมหมุน วางไม่ตรงตามเบ้า ไม่หมุนตามองศาที่ถูกต้อง หมุนผิดทั้งด้านบนและล่าง เกิดปัญหาเจ็บเข่า เข่าใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ยังเกิดจากข้อเทียมส่วนกระดูกต้นขาหรือข้อเทียมส่วนสะบ้าวางไม่ตรงกับตำแหน่งที่ควรจะเป็น ลูกสะบ้าไม่ตรงร่องกับตำแหน่งของข้อ
โดยเฉพาะกลุ่ม “คนไข้” ที่มีแนวโน้มความผิดปกติของ “สะบ้า” อยู่แล้ว หรือกลุ่มคนไข้ที่เข่ามีลักษณะเอื้อให้เกิดปัญหาที่ลูกสะบ้า เช่น คนไข้มีเข่ากาง...ขาส่วนล่างกางออก เข่าชิดกัน หรือตำแหน่งของสะบ้าอยู่สูงกว่าปกติ หากดูจากเอกซเรย์ในมุมพิเศษมักพบว่าลูกสะบ้าอยู่ผิดตำแหน่ง โดยมีการเปิดออกหรือเลื่อนหลุด
...
เมื่อคนไข้ลุก ยืน หรือเดิน จะรู้สึกเจ็บมาก เพราะลูกสะบ้าไม่ตรงร่อง
ปัญหานี้อาจทำให้คนไข้ต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขเร็ว...ไม่ถึง 1 ปี เพราะคนไข้ใช้งานไม่ได้เลย และการผ่าตัดคนไข้ในกลุ่มนี้ต้องใช้ความระมัดระวังสูง
สอง...ข้อเข่าเทียมสึกหรอ ในกลุ่มคนไข้ที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมตั้งแต่อายุยังน้อย หรือใส่ข้อเทียมมานาน เมื่อเวลาผ่านไปอาจเกิดการสึกหรอของตัวพลาสติกหมอนรองข้อเทียม หรือข้อเทียมที่ยึดกับกระดูกเกิดการหลวมและหลุดออกมา ร่างกายจะขจัดด้วยการสร้างเซลล์ที่เรียกว่า “Giant Cell” เพื่อเอาสิ่งที่แปลกปลอมออกไปจากบริเวณนั้น โดยเซลล์ดังกล่าวมีคุณสมบัติคือ ทำลายกระดูก ทำลายการยึดของข้อเทียม
ทำให้...ข้อเทียมตอนแรกที่หนาแน่นแข็งแรง กลับหลวม ข้อเทียมที่แกว่งไปมาจะคว้านกระดูกจนเกิดเป็นรู ซึ่งทำให้มีอาการปวดหรือบวมขึ้นได้
นพ.วัลลภ ย้ำว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ข้อเทียมสึกหรอนั้นมีหลายอย่าง เช่น การใช้งานข้อเข่าในกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทกมากๆ อย่างกีฬาเอ็กซ์ตรีม วิ่ง เล่นสกี หรือน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
สาม...ข้อเข่าติด หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรกอาจมีปัญหา เรื่องข้อเข่าติดจนไม่สามารถใช้งานเข่าในชีวิตประจำวันได้ดี หรือเอ็นรอบหัวเข่าได้รับบาดเจ็บฉีกขาด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรกไม่สามารถปรับสมดุลของเส้นเอ็นรอบหัวเข่าได้ ทำให้มีอาการข้อเข่าบวม หรือเดินแล้วเข่าทรุด หรือมีพังผืดในข้อเข่า
หรือ...ข้อเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ขัดขวางการเหยียดงอเข่า อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม นับรวมไปถึงปัจจัยที่สี่...มาตรฐานของวัสดุข้อเข่าเทียม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะใส่ตัวข้อเทียมสวมลงไปในกระดูก โดยส่วนมากจะมีการใช้ซีเมนต์ยึดระหว่างกระดูกและตัวข้อเทียม
หากวัสดุที่ใช้ทำข้อเทียมไม่ได้คุณภาพจะทำให้ยึดเกาะกับซีเมนต์ไม่ดีหรือติดได้ไม่ทน ทำให้ข้อเทียมหลวมหลุดง่าย หรือ....ใส่ข้อเข่าเทียม ผิดข้าง จากการผ่าตัดครั้งแรกเกิดความผิดพลาด เอาข้อเทียมข้างซ้ายมาใส่ข้างขวา พบได้น้อยมาก และ...กระดูกรอบข้อเข่าเทียมเกิดการหัก มักเป็นผลมาจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ล้ม
“การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งของกระดูกที่หัก โดยมากมักต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไข โดยอาจเป็นการยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะภายใน หรือผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมใหม่อีกครั้งในกรณีที่กระดูกที่หักรุนแรงจนทำให้ข้อเข่าเทียมหลวมและไม่ยึดเกาะกับกระดูก”
...
นพ.ศริษฏ์ หงส์วิไล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เสริมว่า ปัญหาข้อเข่าเทียมโดยทั่วไปหลังจากที่คนไข้ผ่าตัดไปแล้วปัญหามีเปอร์เซ็นต์ไม่เยอะอาจจะไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าพอเวลาผ่านไปหลังผ่าตัดไปเรื่อยๆก็จะเจอปัญหาเยอะได้ขึ้นเรื่อยเช่นเดียวกัน
“...ก็ไม่อยากจะพูดว่ามีความพยายามลดงบประมาณ แต่จะเห็นว่ามีความพยายามในการประมูลราคาถูกที่สุด คราวนี้ก็มีข้อเทียมที่มาตรฐานไม่ถึงอาจจะมาจากบริษัทที่ก๊อบปี้มา...ไม่ได้บอกนะว่ามาจากประเทศไหน พวกนี้จะทำให้การยึดเกาะไม่ดีเหมือนกับของต้นฉบับที่กว่าจะพัฒนาวิจัยมา ทำมาเป็นสิบๆปีแล้ว”
นพ.ศริษฏ์ ย้ำว่า ของก๊อบปี้สำคัญคือราคาถูก เหมือนจริง...แต่อยู่ได้ไม่นานไม่กี่ปี ยึดตัวกับกระดูก ติดซีเมนต์ได้ไม่ทน ก็จะกลายเป็นข้อเทียม ที่สร้างปัญหา หลวมก่อนเวลาอันควร
ส่วนในกลุ่มที่มีปัญหาจากการ “ติดเชื้อ” เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในระยะหลังผ่าตัด 3 เดือนแรกไปจนถึงนานเป็นหลายๆปีแล้วเพิ่งมาเกิดก็มี สาเหตุจะต่างกันถ้าติดเชื้อภายใน 1 ปีแรกหรือ 3 เดือนแรก เรามักจะบอกว่าเกิดจากการติดเชื้อระหว่างผ่าตัด อาจจะเป็นจากห้องผ่าตัดไม่ได้มาตรฐาน หรือว่าสภาพแวดล้อม การดูแลไม่ดี
ส่วนกรณี “ติดเชื้อ” ระยะหลัง ผ่าไปแล้ว 5 ปี 10 ปี...ทำไม? ยังติดเชื้อ ก็ต้องบอกว่าเกิดจากการที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจากทางใดทางหนึ่งก็ตาม เช่น โดนสุนัขกัด หรือเป็นแผลที่เท้า เป็นแผลถลอก ฟันผุ มีการติดเชื้อในร่างกายอะไรก็ตาม ตัวข้อเทียมจะเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวเชื้อโรคพวกนี้ได้ดี
ถ้าในกรณีที่ติดเชื้อจะมาด้วยอาการปวด บวม แดง สำหรับการผ่าตัดแก้ไขทั้งสองกลุ่มติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ คุณหมอบอกว่าต่างกัน กลุ่มไม่ติดเชื้อ จะเอาข้อเทียมเดิมออกใส่เข้าไปใหม่ ความยากอยู่ตรงที่ว่ากระดูกมีความเสียหายไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าเสียหายเยอะก็ต้องใช้วัสดุทดแทนกระดูกมากขึ้น
...
หรือ...ในบางคนที่เอ็นข้อเข่าเสียหายไปด้วยไม่ใช่แต่กระดูก ก็ต้องใช้เป็นวัสดุที่เป็นข้อเทียมรุ่นพิเศษ เรียกว่าเป็นรุ่นที่ทดแทนเอ็นรอบข้อเข่า นอกจากความยากที่จะต้องใช้ในเรื่องของการวางแผนเพราะกระดูกที่หายไปต้องเตรียมอุปกรณ์พวกเหล็กหรือว่าโลหะพิเศษมาเสริมกระดูกแทนแล้วยังต้องดูเรื่องของเส้นเอ็นรอบๆด้วยว่าขาดหายไปไหม จำเป็นที่จะต้องทดแทนด้วยหรือเปล่า รวมไปถึงการเตรียมอุปกรณ์ ราคาก็จะสูงกว่ามาก
ส่วนในกรณีถ้าเป็นติดเชื้อหากมาเร็วในระยะแรกๆเราอาจจะแค่ล้างเข่า เปลี่ยนตัวหมอนรองเทียม ให้ยาฆ่าเชื้อ ก็อาจจะจบไม่ต้องแก้ไขข้อเทียม แต่กรณีเป็นนานแล้วติดเชื้อหลายเดือนแล้วเพิ่งมาหรือว่าติดเชื้อจนกระดูกถูกกินไปแล้ว ข้อเทียมเดิมหลวมแล้วต้องเอาออกใส่ยาฆ่าเชื้อไว้ก่อน ค่อยผ่าตัดอีกรอบก็ยากมากขึ้น
“ถ้าให้ดีควรป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดดีกว่า ไม่ว่าป้องกันการติดเชื้อ การดูแลแผลผ่าตัดตั้งแต่แรกๆ ควรระวังไม่ให้มีบาดแผล ลดการสูบบุหรี่เพราะเป็นการเพิ่มการติดเชื้อมากขึ้น เวลาทำฟันก็ต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนเพื่อรับยาปฏิชีวนะป้องกันไว้ โดยเฉพาะคนที่เป็นเบาหวาน โอกาสเสี่ยงติดเชื้อจะสูงกว่าเกือบ 3 เท่า”
...
การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้อีกครั้ง...เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์หนักอยู่แล้ว รู้ปัญหาแล้วจะได้ป้องกันเอาไว้แต่เนิ่นๆ.