แฉคนไทยป่วย “โรคหัวใจ-หลอดเลือด” จากการกิน แนะออกกำลังกาย
รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 ว่า “ไขมันทรานส์” อันตรายต่อสุขภาพ จึงมีมาตรการห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่ายภายใน 180 วัน ดังนั้น ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารไทย จึงจำเป็นต้องปรับตัวเป็นการเร่งด่วนในการเยียวยา ให้ความช่วยเหลือหรือหาทางออกแก่ผู้ผลิต โดยมี 4 ขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร คือ 1.เลือกใช้น้ำมันที่สกัดจากปาล์มหรือมะพร้าว เพราะมีคุณสมบัติในการยืดอายุผลิตภัณฑ์อาหารที่คล้ายคลึงกับไขมันทรานส์ คือ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และมีต้นทุนต่ำ 2.ผสมน้ำมันเมล็ดปาล์มกับน้ำมันอื่นๆเพื่อปรับลักษณะให้ใกล้เคียงกับไขมันทรานส์ 3.เปลี่ยนแปลงผ่านเทคนิคทางเคมี ไม่ให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้นได้ในกระบวนการผลิต และ 4.การเติมสารสร้างความเป็นเจลให้กับน้ำมัน
ด้าน ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล (มม.) ในฐานะหัวหน้าวิจัยโครงการประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตน้ำมัน และปรับสูตรผลิตน้ำมันแล้ว ไม่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเข้าไปแล้ว หลังกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ก็จะไม่มีในท้องตลาด และที่จริงแล้วไขมันที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดนั้นพบว่าเป็นไขมันอิ่มตัวมากกว่า
ด้าน รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดสูตรอาหาร สถาบันโภชนาการ มม. กล่าวว่า สาเหตุการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดในไทยส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานไขมันอิ่มตัวมากเกิน 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน.
...