ยึด"ทางธรรมนำทางโลก" 

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560

แนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์ดูแลกันเอง ชุมชนช่วยกันดูแล และพระสงฆ์เป็นผู้นำชุมชนในการส่งเสริมสุขภาวะของคนในชุมชนและสังคม

โดยยึดหลัก “ทางธรรมนำทางโลก” มีเป้าหมายทำให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ภายใน 10 ปี

จุดเริ่มของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เกิดจากข้อเสนอของ เครือข่ายพระสังฆพัฒนาภาคอีสาน, เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.นครราชสีมา, อาศรมธรรมทายาท, มูลนิธิชีวิตพัฒนา, เครือข่ายพุทธชยันตี, สังฆะเพื่อสังคม, กลุ่มเสขิยธรรม และ กรมอนามัย ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ที่มองว่าปัญหาเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และได้ออกเป็นฉันทามติเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”

จากนั้นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มอบหมายคณะกรรมการขับเคลื่อน และติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการตามมติดังกล่าว จนเกิดแนวทางในปี 2559 ว่า ให้จัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” และได้มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ฉบับแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2560

...

โดยมี มหาเถรสมาคม (มส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่ง ชาติฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน 5 หมวด 37ข้อ ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ปรัชญาและแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ หมวดที่ 2 พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย หมวดที่ 3 ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย หมวดที่ 4 บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม และ หมวดที่ 5 การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ

พระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการ มส. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของ มส. ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฝ่ายสงฆ์ กล่าวว่า มส.มีมติให้ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยมีหลักสำคัญคือ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม ยึดหลักทางธรรมนำทางโลก ผ่านมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ข้อมูล การพัฒนา การบริการสุขภาพ และการวิจัย ภายใต้วิสัยทัศน์ พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข

ขณะที่ พระมงคลวชิรากร (สมบัติ ญาณวโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการและเลขานุการกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ บอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ว่า จะมีพระคิลานุปัฏฐากประจำวัด ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่คอยให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่พระสงฆ์ภายในวัด กำหนดให้วัดที่มีความพร้อมต้องมีพระคิลานุปัฏฐากประจำวัดอย่างน้อยวัดละ 2 รูป ซึ่งจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ทั้งจะมีการจัดระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ พศ.กำลังดำเนินการ เพื่อให้ข้อมูลทะเบียนวัด พระสงฆ์เป็นปัจจุบันเชื่อมโยงกับระบบทะเบียนราษฎร เลขประจำตัวประชาชน เพื่อให้นำไปเชื่อมโยงกับสิทธิประโยชน์ เช่น ระบบประกันสุขภาพ และจะส่ง เสริมการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ ถวายความรู้พระสงฆ์ ทั้งเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของพระสงฆ์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชุด มาดำเนินการแล้ว

และยิ่งหากดูข้อมูลพระภิกษุสามเณรอาพาธ แค่เฉพาะที่ รพ.สงฆ์ เมื่อปี 2559 จะพบว่า โรคที่รุมเร้าพระสงฆ์มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ไขมันในเลือดสูง 9,609 รูป ความดันโลหิตสูง 8,520รูป เบาหวาน 6,320 รูป ไตวายเรื้อรัง 4,320 รูป และข้อเข่าเสื่อม 2,600 รูป โดยสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่มาจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ และขาดการออกกำลังกาย

จึงยิ่งเท่ากับตอกย้ำว่า ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ เป็นอีกเรื่องที่จะต้องเร่งแก้ไข

...

“ทีมข่าวศาสนา” มองว่าการที่คณะสงฆ์โดยเฉพาะ มส. องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ให้ความสำคัญและร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม น่าจะเป็นการเดินถูกทาง และเท่ากับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะเรื่องสุขภาพพระสงฆ์เป็นปัญหาในวงการคณะสงฆ์มาอย่างยาวนาน

ทั้งเรายังมองด้วยว่า นอกจากพระสงฆ์ที่ต้องหันมาใส่ใจสุขภาพแล้ว พุทธศาสนิกชนเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ ทั้งการถวายความรู้ และการงดตักบาตรพระภิกษุสามเณรด้วยอาหารมัน หวาน และเค็ม

เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาพแข็งแรง อยู่เป็นหลักสำคัญทางจิตใจในการถ่ายทอด และส่งต่อคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการสั่งสอนธรรมะ ศีลธรรม ให้กับพุทธศาสนิกชนชาวไทย

และเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของพุทธศาสนาสืบต่อไปชั่วกาลนาน...

ทีมข่าวศาสนา