หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงฯ ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือที่เรียกว่า ไขมันทรานส์ และอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค.2562 หลายฝ่ายออกมาขานรับทันที

ไขมันทรานส์ (trans fat) เป็นไขมันประเภทหนึ่ง ในบรรดาไขมันหลักที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว และ ไขมันทรานส์

ส่วนใหญ่ไขมันทรานส์ มักเป็นไขมันที่ได้จากการสังเคราะห์ ของกระบวนการผลิตอาหารผ่านวิธีแปรรูป ด้วยการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช เพื่อทำให้น้ำมันพืชมีความแข็งตัวมากขึ้น ทนกับความร้อนได้สูงขึ้น และเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น โดยไม่มีกลิ่นเหม็นหืน

จุดเด่นของไขมันทรานส์ นอกจากช่วยยืดอายุของอาหารได้นานขึ้น ยังเพิ่มความคงตัวของรสชาติอาหาร ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการอาหาร จึงมักนิยมใช้ไขมันประเภทนี้

แม้ว่าไขมันเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ไขมันก็มีทั้งแบบดีและเลว เมื่อหลายปีก่อนช่วงที่สังคมไทยมีกระแสตื่นตัวเรื่องสุขภาพใหม่ๆ หลายครัวเรือนเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันหมูในการปรุงอาหาร หันมาใช้น้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน เพื่อหวังจะลดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด

...

แต่เนื่องจากน้ำมันพืชที่ให้ไขมัน ชนิดยังไม่อิ่มตัว เมื่อวางไว้ในอุณหภูมิปกติ จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืน ครั้นเมื่อนำไปแช่ในตู้เย็น ก็เกิดไข

นักวิทยาศาสตร์จึงได้หาทางแก้ โดยเติม ไฮโดรเจน และ วิตามินอี ลงไป เพื่อช่วยลดกลิ่นเหม็นหืน แต่เมื่อเวลาผ่านไป วงการแพทย์และองค์การอนามัยโลก พบว่า เริ่มมีผู้ป่วยที่เกิดโรคจากการบริโภคไขมันประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไขมันทรานส์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่เพียงเป็นไขมันเลวที่เข้าสู่ร่างกาย ยังเข้าไปทำลายไขมันดีในร่างกายของคนเราอีกด้วย

เมื่อการรับประทานไขมันทรานส์เข้าไป ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูง ทุกวันนี้ผู้คนส่วนหนึ่งจึงเริ่มกลับไปใช้ไขมันอิ่มตัว อย่างเช่น น้ำมันหมู ในการประกอบอาหารตามเดิม เพราะเชื่อว่านอกจากเป็นไขมันที่ได้จากธรรมชาติ ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าการใช้น้ำมันพืชที่มีไขมันทรานส์ผสม

ล่าสุดแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ก็มีการยกเลิกใช้ไขมันทรานส์ไปเรียบร้อย

ส่วนบ้านเรา นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมา อย.ได้หารือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ด้านโภชนาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากไขมันทรานส์ เพื่อวางแผนยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ในกระบวนการผลิตอาหารมา 2-3 ปีแล้ว

หลังจากหารือกับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมผลิตอาหารจนลงตัว ทางผู้ผลิตขอเวลาประมาณ 6 เดือนในการปรับตัวเพื่อยกเลิกการผลิตอาหารที่มีการใช้ไขมันทรานส์

จึงได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 388 พ.ศ. 2561 กำหนดให้อาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน นับจากวันที่ประกาศ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ได้ในช่วงปีหน้า คือ เดือน ม.ค.2562

เลขาฯ อย.บอกว่า ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ขอแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกโดนัท พัฟฟ์ พายต่างๆ หรืออาหารหวานจัด มันมาก เค็มมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการรับไขมันทรานส์

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 388 พ.ศ.2561 สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ลดและเลิกใช้ไขมันทรานส์ ภายในปี ค.ศ.2023 หรือ พ.ศ.2566 เพื่อลดอัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ลงได้ถึง 5 แสนรายต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการลดความตายก่อนวัยอันควร 1 ใน 3 ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังภายในปี 2573

รองอธิบดีกรมอนามัย บอกว่า การกำจัดไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ เพราะไขมันทรานส์ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากร่างกายไม่สามารถ “เมตาบอไลต์” หรือขับทิ้งไขมันทรานส์ได้ จึงทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

...

นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

ขณะที่ พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย บอกว่า จากการตรวจวิเคราะห์อาหารและผลิตภัณฑ์ ต่างๆ จำนวน 126 ตัวอย่าง พบว่าอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์เกินกว่า หรือเท่ากับ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภคในบ้านเรา มีทั้ง ครัวซองต์ เค้กหน้าครีม คุกกี้เนย โดนัทแบบมีไส้ และไม่มีไส้ ทอฟฟี่เค้ก บัตเตอร์เค้ก เฟรนช์ฟราย พิซซ่า เวเฟอร์ และ เนยเหลวรสจืด

ที่สำคัญ แม้บางสูตรจะมีการปรับลดปริมาณไขมันทรานส์ลงก็จริง แต่กลับพบว่า มีไขมันอิ่มตัวเพิ่มขึ้นมาแทนเป็น 2 เท่า

“อย่างเช่น เนยเทียม หรือมาการีน แม้มีการปรับลดสูตรปริมาณไขมันทรานส์ลงจากเดิม 1.3-2.8 กรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม เหลือแค่ 0.5-1.7 กรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม แต่กลับพบว่า มีปริมาณไขมันอิ่มตัวเพิ่มขึ้นจาก 19 กรัม เป็น 41 กรัม ซึ่งไขมันอิ่มตัวก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน”

พญ.นภาพรรณบอกว่า บางผลิตภัณฑ์แม้มีปริมาณไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่ก็ยังมีคำแนะนำว่า ให้รับประทานได้ไม่เกิน 1% ของพลังงานรวมต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณไม่เกิน 2 กรัมต่อวันเท่านั้น

“กรณีที่บริโภคเป็นประจำ แม้จะเป็นจำนวนน้อยนิด แต่เมื่อรวมกันทั้งวันและทุกวัน ก็กลายเป็นปริมาณมากได้ ที่สำคัญอาหารและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่เคยมีการใช้ไขมันทรานส์ มักจะมีไขมันอิ่มตัว หรือ saturated fat ซึ่งปรับสูตรจากไขมันทรานส์เป็นไขมันอิ่มตัว”

...

“อยากให้ผู้บริโภคจำไว้เสมอว่า ไขมันอิ่มตัวแม้จะร้ายน้อยกว่าไขมันทรานส์ แต่ก็ยังร้ายอยู่ดี เพราะไขมันอิ่มตัว จะไปเพิ่มคอเลสเทอรอลโดยรวมในร่างกาย และเพิ่มคอเลสเทอรอลตัวร้าย หรือ LDL ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งทั้งองค์การอาหารโลก และองค์การอนามัยโลก แนะนำว่า ควรทานกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 10% หรือน้อยกว่าวันละ 22 กรัม”

ผอ.สำนักโภชนาการฝากเตือนทิ้งท้ายไว้ด้วยความห่วงใยว่า

“นอกจากขนมอบ เบเกอรี ฟาสต์ฟู้ด อาหารที่ทอดในน้ำมันท่วมทั้งหลาย ล้วนมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง หนังไก่ สะโพกไก่ มันหมู เนื้อติดมัน เนย ชีส น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ครีมเทียม ก็ล้วนมีไขมันอิ่มตัวสูงทั้งนั้น”

ดังนั้น ทางที่ดีจึงควรลดอาหารทอดต่างๆ โดยเฉพาะที่ทอดในน้ำมันท่วม หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด คุมปริมาณการกินขนมอบและเบเกอรี ควรใช้น้ำมันที่ปรุงอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ คือ ไม่เกินคนละ 6 ช้อนชาต่อวัน และควรเพิ่มการกินผักผลไม้หลากหลายชนิด.