เปิดโครงการขับเคลื่อนประเทศด้วย "ไบโออีโคโนมี" สาน "มั่งคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน"

เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ ไบโออีโคโนมี

โครงการ “ใหม่” และ “ใหญ่” ที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กำลังจะนำมาขับเคลื่อนประเทศไทย โดยเป็นรูปแบบการพัฒนาประเทศแนวใหม่ที่มีมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเลือกเป็นโมเดลการพัฒนาประเทศ

เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ ไบโออีโคโนมี คือเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร โดยเน้นสร้างความสมดุลทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน

นั่นหมายถึงประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีจุดแข็งที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ ด้วยการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ทั้งมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากถึงร้อยละ 10 ของชนิดที่พบในโลก

ที่สำคัญการใช้ เศรษฐกิจชีวภาพขับเคลื่อนประเทศไทย เป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยึดโยงกับ หลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศเปลี่ยนความได้เปรียบที่ไทยมีอยู่มาก ไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน

ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศและคนไทยอย่างน้อย 3 ด้าน “รายได้ดี สุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี”

“กระทรวงวิทย์จะลงทุนเศรษฐกิจชีวภาพใน 4 กลุ่ม ผ่านธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอแบงก์ (Biobank) ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาพันธุ์พืช สายพันธุ์จุลินทรีย์ของประเทศไทยที่จะเป็น “ตัวตั้งต้น” ของการนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต ใน 1.กลุ่มเกษตรและอาหาร 2.กลุ่มพลังงานและวัสดุชีวภาพ 3.กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ และ 4. กลุ่มการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเศรษฐกิจชีวภาพจาก 21% เป็น 25% ใน 5 ปี โดยในระยะสั้น คือ 6 เดือนข้างหน้า วท.จะเร่งทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงทรัพยากรฯ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมผสมผสานกับการจัดการ โดยใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เจ้าของโครงการไบโออีโคโนมีขับเคลื่อนประเทศไทยกล่าว

...

พร้อมระบุถึงแนวคิดการดำเนินการด้วยว่า อย่าง กลุ่มเกษตรและอาหาร จะมีการเร่งการพัฒนาการเกษตรแบบแม่นยำจะเน้น สมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือเกษตรอัจฉริยะ นำองค์ความรู้ทางด้านการใช้ระบบอัตโนมัติในการดูแลพืชผล การใช้อินเตอร์เน็ตในการควบคุมและเก็บข้อมูล การทำโรงเรือนแบบใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชแบบมีประสิทธิภาพ มีรูปแบบการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะถูกกระจายไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในระยะหนึ่งปีเพื่อให้เป็นแหล่งของเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการเกษตรแม่นยำ ขณะที่ระยะยาวพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi ที่ จ.ระยอง ซึ่ง วท.รับผิดชอบอยู่ จะเป็นแหล่งวิจัยเพื่อสร้างความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการสร้างสารเคมีและวัสดุมูลค่าสูงจากสิ่งมีชีวิต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ชีวมวลของประเทศให้ได้สูงสุด

ขณะที่ กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และ สถาบันการศึกษาใน การเร่งรัดจัดทำและใช้ประโยชน์ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรค โดยระยะ 6 เดือนแรกจะเร่งรัดผลักดันให้เกิด ฐานข้อมูลจีโนมของคนไทย จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการรักษาแบบแม่นยำในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของคนไทย เช่น โรคมะเร็งรวมทั้ง การผลิตผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุและสมุนไพร สำหรับ กลุ่มพลังงานและวัสดุชีวภาพ จะมี การสร้างเทคโนโลยีฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟน์-เนอร์รี่หรืออุตสาหกรรมการกลั่นชีวภาพ เช่น เดิมเคยใช้น้ำมันเป็นสารตั้งต้นการผลิตก็จะเปลี่ยนสารสกัดจากพืชผลทางการเกษตรแทน ส่วน กลุ่มการท่องเที่ยว จะส่งเสริม การท่องเที่ยวให้เป็นเมืองรีสอร์ตชีวภาพคาร์บอนต่ำ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างขยะพลาสติก โดยจะมีการนำร่อง 2 แห่งในพื้นที่อันดามันและอ่าวไทย

“ทั้งหมดจะนำผลดีต่อประเทศและคนไทยอย่างน้อย 3 ด้าน “รายได้ดี สุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี” ดร.สุวิทย์ ระบุชัด พร้อมขยายภาพด้วยว่า รายได้คนไทยจะดีขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรที่มีความทันสมัย คุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้น เพราะระบบการดูแลสุขภาพจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา สิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะจะมีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้ทรัพยากรธรรมชาติมีสภาพที่ดียิ่งขึ้น

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ มองว่าโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี ที่ วท.จะใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสมผสานกับการจัดการ โดยใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะช่วยตอบโจทย์ประเทศในช่วงเวลาปัจจุบันได้

แต่ที่เราขอฝากไว้คือการสร้างสมดุลที่ดีในการพัฒนาที่จะนำไปสู่การมีรายได้ดี สุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกภาคส่วน

เพื่อนำพาประเทศไทยสู่การพัฒนาที่จะเพิ่มความอยู่ดีมีสุข ประเทศมีภูมิคุ้มกันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์