แก้ลมชักในเด็ก คลื่นไส้อาเจียน ประสาทอักเสบ
คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คาด 1 พ.ค.2562 จะนำ “กัญชา” มาวิจัยในคนและใช้ทางการแพทย์ได้ จี้ 4 คณะทำงานทำให้ทันกำหนด ทั้งสกัดน้ำมันกัญชา ออกมาตรการควบคุม ข้อบ่งชี้ในการใช้ แพทย์แผนปัจจุบันเผยผลวิจัยชัดใช้ได้ใน 3 โรค สูตรตำรับยาแผนไทยจากกัญชาขอใช้สายพันธุ์ไทยเท่านั้น
ที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 3 ก.ค.นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่จะปลดล็อกให้สามารถนำกัญชามาวิจัยทางการแพทย์ในมนุษย์ได้ ซึ่งจากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2561 และมีเวลาให้คณะกรรมาธิการพิจารณา 90 วัน จึงคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ช่วง ต.ค.นี้ และจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน คือช่วง เม.ย.2562 ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานว่า วันที่ 1 พ.ค.2562 จะต้องสามารถนำกัญชามาใช้เป็นยาทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้ “คณะกรรมการฯจะมีคณะทำงาน 4 คณะ ซึ่งแต่ละคณะต้องไปวางกรอบระยะเวลาในการทำงานให้ชัดเจน เช่น คณะทำงานเพื่อพัฒนาการสกัดฯ จะทำอย่างไรให้มีน้ำมันกัญชาหรือยากัญชาใช้ภายในวันที่ 1 พ.ค.2562 หรือคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมฯที่มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหลัก ก็ต้องไปออกกติการะเบียบต่างๆ ทำอย่างไรให้มีผลิตภัณฑ์ใช้ และใช้ทางการแพทย์ทำอย่างไร” นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับการรายงานความคืบหน้าของแต่ละคณะทำงานนั้น คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย รายงานว่า ในส่วนแผนปัจจุบันพบว่าโรคที่มีการศึกษาวิจัยชัดเจนแล้วว่าใช้กัญชาได้มี 3 กลุ่ม คือ แก้คลื่นไส้อาเจียนในคนไข้มะเร็งที่รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักในเด็ก และปลอกประสาทอักเสบ ส่วนโรคที่มีการศึกษาวิจัยแต่ยังไม่ชัดเจน เช่น ลมชักที่ดื้อยาอื่นๆ การมีผลต่อเซลล์มะเร็งในคนหรือไม่ พาร์กินสัน และจิตเวชอย่างอัลไซเมอร์ ส่วนแพทย์แผนไทยมีการยกเข้ามา 4 ตำรับ ซึ่งขอให้คณะทำงานฯไปศึกษาว่า ตำรับที่ต้องใช้ประกอบด้วยแคนนาบิดอยล์ หรือ CBD และเตตระไฮโดรแคนนาตินัล หรือ THC อัตราส่วนเป็นอย่างไร ปริมาณคนไข้ทั้งหมดเยอะหรือไม่ เพื่อจะได้ทราบว่าจะต้องมีน้ำมันกัญชาหรือยากัญชามากเท่าไร
...
เมื่อถามถึงกรณี อภ.ที่กำลังเสนอโครงการขอปลูกและวิจัยทำสารสกัดจากกัญชา นพ.โสภณ กล่าวว่า อภ.จะเสนอเป็น 2 โครงการ คือ 1.ขอของกลางมาสกัด ซึ่งขณะนี้เสนอไปเรียบร้อยแล้ว และ 2.การขอปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการเพื่อเสนออยู่ ส่วนการสกัดกัญชาหรือการพัฒนาสายพันธุ์นั้นขณะนี้คงใช้ของกลางไปก่อน ซึ่งก็จะมีมาตรา 101 ทวิ และ 102 ทวิ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่กำหนดว่าเมื่อมีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณยาเสพติดแล้ว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่ระเบียบที่สธ.กำหนด โดยไม่ต้องรอให้คดีสิ้นสุด ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์นั้น
อย่างแพทย์แผนไทยก็ระบุเลยว่าต้องใช้กัญชาพันธุ์ไทย เพื่อให้เป็นไปตามสูตรตำรับ คงไม่ใช้สายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เกิดกระแสว่ากัญชาสามารถนำมาใช้ได้แล้ว นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขอย้ำว่า ขณะนี้กัญชายังไม่สามารถใช้กับมนุษย์ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย ทำได้เพียงแค่ขออนุญาตปลูก นำเข้า และสกัด แต่จากที่คาดคือในเดือน พ.ค.2562 จะนำกัญชามาใช้ในมนุษย์ได้ แต่เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น และต้องใช้ตามข้อบ่งชี้ ซึ่งคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมฯ จะเสนอคณะกรรมการยาเสพติดว่ากัญชาทางการแพทย์ต้องมีข้อบ่งชี้อะไรบ้างที่จะอนุญาต ซึ่งถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ก็จะไม่มีการอนุญาตให้ผลิตด้วย ส่วนแพทย์หากจะสั่งจ่ายไม่ต้องมีการขออนุญาต แต่ต้องสั่งจ่ายตามข้อบ่งชี้ ไม่เช่นนั้นถือว่าผิด และขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างเป็นกฎหมายลูก ซึ่งจะมีทั้งประเด็นการวิจัยในคน การเอาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยา