หากรัฐบาลตั้งใจจะยกระดับการกู้ภัยเมืองไทยจริง

ต้อง “ปัดฝุ่น” มรดกทางความคิดชิ้นสุดท้ายของ พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ก่อนตัวเองถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 11 ปีที่แล้ว

จะได้ไม่ต้องมา “อวดของ” ลองผิดลองถูกในภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย  (ปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต ถ้ำหลวงเชียงราย)

พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ เปรยอยู่เสมอในเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเมืองไทยว่า ควรจะมีหน่วยงานหลักของรัฐเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2543 ก่อนคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามัน 4 ปี ครม.เคยมีมติตั้ง กองบัญชาการภัยพิบัติแห่งชาติ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลข่าวสารประสานงานและสั่งการเมื่อมีเหตุภัยพิบัติระดับชาติ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่มี “ผู้นำ” เป็นเสมือนผู้บัญชาการเหตุการณ์

ทว่ากลับถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2545 อ้างเหตุผล “ซ้ำซ้อน” กับกระทรวงมหาดไทย

น่าเสียดายกลายเป็นความเข้าใจผิดจากความไม่รู้ในทางเทคนิค และทำให้เกิดความล้มเหลวที่ปรากฏชัดจากเหตุการณ์สึนามิในอีก 2 ปีถัดมา

หลายหน่วยต่างฝ่ายต่างทำงาน ไม่มีศูนย์บัญชาการ หรือ “ผู้นำ” ลงไปยังที่เกิดเหตุเพื่อสั่งการในทันที

ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนในส่วนผู้ปฏิบัติว่าใครต้องทำอย่างไร ไม่มีการฝึกซ้อมขั้นตอนของผู้สั่งการที่ต้องมีความรอบรู้ชำนาญการ

เพียงพอที่จะตัดสินใจอันเป็น “จุดอ่อน” และต้นเหตุความสูญเสียมหาศาล

...

คำว่า “ซ้ำซ้อน” จึงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้จากโศกนาฏกรรมสึนามิ

ถ้ามี กองบัญชาการภัยพิบัติแห่งชาติ ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรีจะสามารถประสานงานสั่งการได้ทุกกระทรวงแทนการร้องขอความช่วยเหลือ

ทั้งหมดนี้ พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ เอาไปพูดในที่ประชุม กปอ. ครั้งที่ 2/2549 วันที่ 14 ธ.ค.2549 ให้ทบทวนโครงสร้างบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ

เป็น “มรดกชิ้นสุดท้าย” ก่อนตัวเองจากไปในวันที่ 29 ม.ค.2550

มันคือ “พิมพ์เขียว” การยกระดับกู้ภัยเมืองไทยที่ไม่ต้องเอาชีวิตใครมาเดิมพัน!!!

สหบาท