นายฐิติ ลุจิตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร การค้าข้าวในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจอาหารและสินค้าทั่วไป บริษัท ซีพี ข้าวตราฉัตร เผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวไทยในขณะนี้ ข้าวหอมมะลิไทยขายได้ถึงตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐฯ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สาเหตุจากค่าเงินบาทที่แข็งตัว ความต้องการของตลาดผู้บริโภคข้าวหอมมะลิปรับเพิ่มขึ้น เพราะความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าว และได้แรงหนุนจากการระบายข้าวจำนำในสต๊อกได้หมด

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ แสดงให้เห็นว่า วิธีการขายข้าวแบบลดแลกแจกแถม เพื่อแย่งชิงตลาด มีแต่จะทำให้ข้าวไทยด้อยคุณภาพ คู่ค้าขาดความเชื่อถือ ขายได้ราคาต่ำ ดังนั้นวันนี้เราต้องกลับมาพัฒนากระบวนการจัดการให้มีคุณภาพมาตรฐานที่ตลาดคู่ค้ากลุ่มพรีเมียมยอมรับ ซึ่งไทยได้เปรียบเพื่อนบ้าน เพราะข้าวไทยมีชื่อเสียงในเรื่องนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

นายฐิติ เผยอีกว่า เพื่อให้ข้าวพรีเมียมของไทยเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ข้าวตราฉัตร มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะนำระบบการติดตามการเพาะปลูก โดยใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัล IOT (Internet of Things) หรือเกษตรกรแม่นยำจากสหรัฐอเมริกา ที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาใช้เป็นต้นแบบ ในการคำนวณสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม ติดตามผลการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช การให้น้ำ-ปุ๋ย พร้อมหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่คนไทยประดิษฐ์ขึ้นมาส่งเสริมให้กลุ่มชาวนารุ่นใหม่ Smart Farmer ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ

และนโยบายนี้ ข้าวตราฉัตร มีโครงการลงมือทำในช่วง ปี 2560-2564 ให้ชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิ ในพื้นที่ ศรีสะเกษ และยโสธร ข้าวญี่ปุ่น จ.เชียงราย ข้าวหอมปทุมและข้าว กข 43 ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ปรับเข้าสู่ระบบ GAP ที่ต้องมีการจดบันทึก เพื่อให้มีข้อมูลต้นทุนทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย การจัดการทั้งหมดจะทำให้การปลูกต้นทุนไม่สูง ได้ข้าวมีคุณภาพมาตรฐาน ตรงความต้องการตลาดผู้บริโภค และข้าวไทยยังสามารถส่งเข้าตลาดพรีเมียมได้มากขึ้น.

...