ระหว่างรอ กรมวิชาการเกษตร จัดทำร่างแผนมาตรการควบคุมสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย...สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็น 4 ภาคส่วน รัฐ-เอกชน-ภาคการศึกษา-ประชาชน ในหัวข้อ “มาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ อุปนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย และผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช สรุปถึงมาตรการจำกัดการใช้ 4 ด้านหลัก...ด้านการนำเข้า ผลิต จำหน่าย และการนำไปใช้

การนำเข้าสาร...ควรจำกัดปริมาณการใช้ โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมต่อการใช้งานจริง หรือสอดคล้องกับขนาดพื้นที่ใช้จริง เพิ่มมาตรการควบคุมการผลิต รวมทั้งให้ผู้นำเข้าสื่อสารเรื่องความเสี่ยงของการใช้สาร ปรับปรุงและสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามและเฝ้าระวังให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และส่งเสริมการวิจัยเพื่อจัดหาสารทดแทนหรือทางเลือกที่เหมาะสม

...

ด้านการผลิต...ควรประสานความร่วมมือกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและบริษัทผู้ผลิต จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงฉลาก เพิ่มรายละเอียดด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพสารให้ตรงตามที่ขึ้นทะเบียน

ด้านการจัดจำหน่าย...ควรพัฒนาบุคลากรประจำร้านให้มีความเชี่ยวชาญ ปรับปรุงหลักสูตรอบรมร้านค้า เพิ่มเติมในประเด็นด้านสุขภาพ จำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันในราคาถูก ห้ามโฆษณาขายสารดังกล่าวผ่านรถเร่ขายและสื่อออนไลน์ สร้างกลไกติดตามการใช้สารเคมีผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร สามารถจำหน่ายได้เฉพาะในร้านค้าควบคุมเท่านั้น และยกระดับความสามารถของร้านค้าในการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ด้านการใช้สาร... พัฒนาหลักสูตรอบรมเกษตรกรให้มีความทันสมัย กระจายอำนาจให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นเป็นผู้อบรมและพัฒนาความรู้เกษตรกร สร้างกลไกการติดตามการอบรมผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร และพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นหน่วยงานกลางในการอบรมและให้บริการฉีดพ่นสารเคมีอย่างถูกต้อง

เป็นข้อเสนอที่น่าจะเป็นแนวทางทำให้เกษตรกรไทยใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง

นอกนั้นในเวทีนี้ยังมีข้อเสนออีกว่า...ในอนาคตควรที่จะนำมาตรการเช่นนี้ มาใช้กับสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด เพื่อให้การใช้สารเคมีของเกษตรกรไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และปลอดภัย ทั้งต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม.

กรวัฒน์ วีนิล