พลตรีหญิง พูลศรี

รัตนาภรณ์ โพธิประสาท อายุ 55 ปี ข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร ป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านมระยะลุกลามไปที่ตับ โดยตรวจพบตั้งแต่ปี 58 ระบายความทุกข์ใจให้ฟังว่า...ปกติจะเป็นคนสุขภาพแข็งแรงมาก ไม่เคยเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรเลย

แต่..วันเกิดเหตุคือมาทำงานแล้วเป็นลมหมดสติในลิฟต์ เพื่อนร่วมงานจึงนำส่งโรงพยาบาล คุณหมอตรวจอย่างละเอียดจึงทราบว่า ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายและลุกลามไปที่ตับ...ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ คุณหมอแจ้งว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้แค่ 6 เดือน รู้สึกท้อแท้...สิ้นหวังมาก เป็นห่วงลูกทั้งสองคน

“ตอนที่ป่วยเครียดมาก เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งถือว่าหนักมาก แต่โชคดีที่มีสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล คุณหมอตัดสินใจให้ยาฉีดร่วมกับยากินที่เป็นยาใหม่ เพราะมีความจำเป็นต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน พอให้ไปแล้วรู้สึกอาการดีขึ้นมาก จากคนไม่มีเรี่ยวแรง เดินไม่ได้พูดไม่ได้ ทานอาหารไม่ได้ ร่างกายค่อยๆฟื้นฟูขึ้น จนสามารถกลับมาใช้ชีวิต ได้อย่างปกติ...เรารู้สึกเหมือนมีปาฏิหาริย์ให้เรามีชีวิตรอดอีกครั้ง

ตั้งแต่ได้รับยาสองตัวนี้มา ร่างกายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถมาทำงานและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ทว่า...ตอนนี้รู้สึกหมดหวังมากๆ เพราะล่าสุด กรมบัญชีกลางได้ตัดสิทธิการเบิกจ่ายในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งยาตัวที่เคยได้รับก็ถูกตัดออกจากบัญชีเบิกจ่ายตรง รู้สึกตกใจกับคำสั่งที่ออกมามากๆ

อยากถามว่า...กรมบัญชีกลางใช้มาตรฐานอะไรในการชี้วัด หากแพทย์วินิจฉัยว่าการรักษานั้นจำเป็นและมีความสำคัญ ทำไมต้องให้เราสำรองเงินล่วงหน้าเองไปก่อน รัตนาภรณ์ รับราชการมา 20 ปี เงินเดือนแค่ 18,000 บาท หากจะต้องมาแบกค่ารักษาพยาบาลอีกคงไม่ไหว ลำพังหาเงินเลี้ยงลูก ...ครอบครัว ก็แทบจะไม่พอแล้ว

...

“ถ้าต้องให้มาสำรองเงินจ่ายเองคงยิ่งกระอัก ตอนนี้ก็คงได้แต่นับวันรอวันตาย เพราะก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน คุณหมอที่รักษาก็ลำบากใจเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร...ก็อยากจะรักษาคนไข้ให้หาย อยากใช้ยาดีๆ คนไข้จะได้หาย ...สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่พอมีคำสั่งแบบนี้ก็เท่ากับผลักคนไข้ให้ตายเร็วขึ้น ล่าสุด เพิ่งไปให้ยามา ปรากฏว่ายาที่หมอให้ทดแทนยาเดิม มีผลข้างเคียงเยอะมาก ทานเข้าไปแล้วปวดกระดูก เดินไม่ไหวปวดกระดูกมาก”

คุณรัตนาภรณ์ บอกอีกว่า การที่ทำอาชีพรับราชการเพราะหวังแค่เงินค่ารักษาพยาบาลลำพังเงินเดือนคงไม่พอ แต่ตอนนี้ข้าราชการถูกตัดสิทธิหลายๆอย่างออกไป พวกเราก็เข้าใจแต่การที่กรมบัญชีกลางทำแบบนี้ โหดร้ายมาก ไม่มีใครอยากป่วยและก็ไม่มีใครอยากเป็นมะเร็ง อย่ามองว่าข้าราชการเป็นภาระแต่ให้มองว่าเราคือ “คน”...ที่ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ เราไม่ได้คาดหวังอะไร เพียงแต่อยากได้สิทธิการรักษาเวลาเจ็บป่วย ถ้าทำแบบนี้คงไม่มีใครจะอยากมารับราชการ กรมบัญชีกลางควรหาทางออกที่ดีกว่านี้

มนัสศิริ มหาราช อายุ 80 ปี ผู้ป่วยมะเร็งตับ เล่าเสริมว่า ผมป่วยด้วยโรคมะเร็งตับมานาน 4 ปีแล้ว เข้ารับการรักษาที่จังหวัดเชียงใหม่ การรักษาเริ่มต้นก็รับยาเม็ดและยาฉีด ซึ่งยาสองอย่างนี้เป็นยากลุ่มใหม่ที่ราคาค่อนข้างสูง แต่ได้ผลดีมาก เพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ควบคุมเซลล์มะเร็งเฉพาะจุด ไม่ทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆไม่มีผลข้างเคียง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาต้องเดินทางไปหาหมอทุกเดือนตามที่หมอนัดเดือนละ 1 ครั้ง

เพื่อไปรับยาและฉีดยา...หวังเพียงว่าแพทย์ดูแลเราอย่างดี ได้อยู่กับลูกหลานไปนานเท่าที่จะอยู่ได้ ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นในหนึ่งเดือนทราบมาว่าต้องจ่ายค่ายาเป็นหลักแสน ซึ่งถือว่าหนัก

“สงสารลูกๆ ที่ต้องแบกภาระค่ารักษา แต่โชคดีที่ผมอยู่ในครอบครัวราชการใช้สิทธิเบิกจ่ายได้ แต่บางครั้งก็ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง เพราะยาบางตัวไม่สามารถเบิกได้”

มนัสศิริ บอกว่า โดยส่วนตัวผมคิดว่า...โรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ คนรวยหรือคนจนก็สามารถป่วยเป็นโรคมะเร็งได้...เป็นโรคร้ายที่เป็นแล้วไม่มีโอกาสรักษาให้หายขาด เพียงแต่รักษาอย่างไรให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ และอีกอย่างสภาพจิตใจของคนไข้ก็มีส่วนมากๆนะครับ

“คนไข้ที่เป็นมะเร็งมักจะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา...ปัจจุบันน่าจะมีผู้ป่วยทั้งหมดที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้ป่วยที่มีสิทธิในการเบิกค่ารักษาได้ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา...เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข”

“คนไข้”...ไม่ว่าสิทธิอะไรก็ควรได้รับการดูแล เพื่อไม่ให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ”

สองกรณีข้างต้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีที่กรมบัญชีกลางออกหนังสือ 2 ฉบับ ถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยเป็นการปรับปรุงโครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง 9 รายการ โดยเรียกว่า “ระบบ OCPA”

...จำกัดให้ใช้สำหรับการรักษามะเร็งบางอย่างเท่านั้น และผู้มีสิทธิที่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นนอกเหนือ 9 รายการนี้ ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วค่อยไปเบิกคืนทีหลัง หรือถ้าเป็นยาใหม่ไม่สามารถเบิกได้เลย

...

คำสั่งนี้ส่งผลกระทบกับข้าราชการทั่วประเทศ เนื่องจากยารักษาโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น กลุ่มยารักษาโรคมะเร็งชนิดมุ่งเป้า กลุ่มยาชีววัตถุ เป็นยาที่อยู่นอกระบบ OCPA

พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ เปิดมุมมองหลังการสัมมนาหัวข้อ “แนวทางการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ” เอาไว้ว่า...

“ขอเรียกร้องสิทธิแทนข้าราชการทั่วประเทศ ภาครัฐควรคำนึงถึงการรักษาที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุดเป็นหลัก ไม่ใช่การคำนึงถึงเรื่องการเงิน หรืองบประมาณเป็นสำคัญ เพราะอาจตัดโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นเพียงการยืดเวลาในการจ่ายเงินของกรมบัญชีกลาง โดยโยกจากการเบิกตรงเป็นให้ผู้ป่วยจ่ายก่อนแล้วไปเบิกตามหลัง...เป็นการทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติ เพิ่มภาระอย่างมหาศาลให้ผู้ป่วย”

โดยเฉพาะ “ผู้ป่วยมะเร็ง” มีความยากลำบากอยู่แล้วจากโรคที่เจ็บป่วยอยู่ การออกประกาศนี้จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ป่วยข้าราชการ เป็นการลิดรอนสิทธิผู้ป่วย พลตรีหญิงพูลศรี ย้ำว่า ขอให้กระทรวงการคลังคำนึงถึงมนุษยธรรมและกระทำตามพันธสัญญาที่ให้ไว้แก่ข้าราชการในสิทธิรักษาพยาบาล

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐจะพิจารณาเพิ่มงบประมาณสาธารณสุข เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการการรักษาของประชาชน เนื่องจากอัตราการเกิดโรคมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีสิทธิในระบบสุขภาพระบบใดระบบหนึ่ง อาทิ บัตรทอง ประกันสังคม สิทธิของข้าราชการ

หรือ...อาจจะมีการจัดตั้ง “กองทุนโรคมะเร็ง” เหมือน “กองทุนโรคเอดส์”

ที่สำคัญ...ควรมีการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ให้ถูกต้องตามหลักนิยมของวิชาชีพแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในด้านสุขภาพและชีวิต อันจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

...

“สมาคมเข้าใจว่า รัฐมีงบประมาณจำกัดและเห็นใจกรมบัญชีกลาง แต่ที่น่าเห็นใจยิ่งกว่าน่าจะเป็นผู้ป่วย จึงขอเสนอให้ทบทวนนโยบายการเบิกจ่ายยามะเร็งที่กำลังเป็นปัญหา...หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอีกครั้งโดยด่วน...ไม่ควรดำเนินการโดยแพทย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและควรพิจารณาหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม”

ทุกคนล้วนปรารถนาอยากจะมี “สุขภาพ” และ “คุณภาพชีวิต” ที่ดี ...เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยคงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ควรผลักภาระให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและเกื้อหนุนกันอย่างสมศักดิ์ศรี.