กระทรวงแรงงานเปิดตัวเลขคนจบปริญญาตรีปีละประมาณ 3 แสนคน แต่กว่าครึ่งต้องออกมาเตะฝุ่น เหตุเลือกเรียนไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน เลือกตามค่านิยม พยายามแก้ไขให้คำแนะนำด้านอาชีพตั้งแต่มัธยมต้น ด้านผู้ประกอบการขายของเปิดเกมรุกใช้โซเชียลทุกช่องทางกดดันกระทรวงแรงงานปลดล็อกให้ใช้แรงงานต่างด้าวทำงานขายของ-ทำเล็บได้ อ้างรับสมัครคนไทยมานาน แต่ไม่มีใครสนใจทำ

กลุ่มนายจ้างออกมากดดัน กระทรวงแรงงาน ขอให้เปิดใช้แรงงานต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้าน-ทำเล็บได้ ในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.หลังได้รับการเปิดเผยจาก นายภิภูเอก สกุลหลิม ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว ว่ากลุ่มนายจ้างจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจากการที่กระทรวงแรงงานจะออกประกาศอาชีพสงวนใหม่สำหรับคนไทยภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งใน 39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทย ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2522 จะมีการปลดล็อกให้แรงงานต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ โดย 11 อาชีพ ให้ทำได้แบบมีเงื่อนไข อีก 28 อาชีพ ห้ามทำ หนึ่งในนั้นคืองานขายของหน้าร้าน และเสริมสวย ยังคงเป็นงานสงวนสำหรับคนไทยต่อไป ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยได้เรียกร้องไปยัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน รวมทั้ง ไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้เปิดไฟเขียวให้ “งานขายของหน้าร้าน” ออกจากงานห้ามเด็ดขาด ไปอยู่ในกลุ่มงานที่ทำได้อย่างมีเงื่อนไขแทน เพราะปัจจุบันคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น และมีช่องทางเป็นเจ้าของกิจการเองมากขึ้น รักงานสบาย ไม่ทำงานหนัก หันไปค้าขายออนไลน์ จึงหาคนไทยเป็นลูกจ้างขายของได้ยาก ขนาดขึ้นป้ายรับสมัครงาน 3 เดือนยังไม่มีคนมาสมัคร จึงอยากให้เห็นใจผู้ค้ารายย่อยบ้าง เพราะไม่มีคนทำงาน

นายภิภูเอกกล่าวว่า หลังจากยื่นหนังสือไปทั้ง 2 แห่ง ถึงวันนี้ยังไม่มีผลตอบรับอะไรออกมา กลุ่มผู้ประกอบการค้าในย่านประตูน้ำและย่านอื่นๆ ได้พากันขึ้นป้ายขอความเห็นใจไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และโพสต์ข้อความต่างๆไปในโลกโซเชียล ทั้งเฟซบุ๊ก และไลน์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่นายจ้างคนไทยต้องใช้แรงงานต่างด้าวช่วยขายของ หยิบจับเงินเพื่อนำส่งนายจ้าง ซึ่งนอกจากกลุ่มขายของหน้าร้าน ยังมีกลุ่ม “ทำเล็บ” ที่ติดอยู่ในกลุ่มเสริมสวยที่เป็นงานต้องห้าม แต่ปัจจุบันธุรกิจร้านทำเล็บแยกออกมาจากร้านเสริมสวยแล้ว จึงต้องการเปิดให้ต่างด้าวสามารถทาสีเล็บแบบพื้นๆ ได้ นอกจากตัดเล็บ เพราะหาคนไทยทำงานนี้ได้ยากเช่นกัน ที่มีอยู่พอเป็นงานก็ออกไปเปิดร้านของตัวเอง

...

“ตอนนี้ทุกคนต้องการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวทำงาน เพราะหากใช้ทำงานนี้ไม่ได้ นายจ้างเดือดร้อนแน่ ไม่มีคนช่วยทำงาน ในเมื่อยอมรับกันว่าคนไทยไม่ทำงานแบบนี้แล้ว ก็ควรเปิดโอกาสให้ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นลูกจ้างได้ แค่เฝ้าร้าน ขายของ นำเงินส่งให้นายจ้าง มีนายจ้างดูแลร้าน ไม่ได้ให้เป็นเจ้าของกิจการเอง วันนี้ทุกคนช่วยกันโพสต์ ช่วยกันแชร์ ความเดือดร้อนจากอาชีพสงวน หากยังไม่มีอะไรตอบรับก็จะไปกันที่กระทรวงแรงงาน ก่อนที่บอร์ดนโยบายต่างด้าวจะประชุมและมีมติเคาะอาชีพสงวนภายในสัปดาห์หน้า” นายภิภูเอกกล่าว

วันเดียวกัน นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาย้อนหลัง 5 ปี (2556-2560) มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละประมาณ 300,000 คน ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในเดือน พ.ค.61 มียอดคนตกงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากถึง 170,900 คน การตกงานมีหลายสาเหตุ เช่น เลือกเรียนในสายที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่เป็นการเลือกตามค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน ทำให้เกิดปัญหาตกงาน บางส่วนยังไม่ต้องการหางานทำเนื่องจากอยู่ในช่วงการตัดสินใจที่จะศึกษาต่อ หรือพักอยู่บ้าน ขณะที่บางส่วนต้องการเพียงใบรับรองคุณวุฒิเพราะครอบครัวมีธุรกิจหรืออาชีพที่ต้องการให้บุตรหลานรับช่วง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้แก้ไขและป้องกันปัญหาการว่างงานในกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยทำโครงการสำรวจความต้องการของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถึงระดับปริญญาตรี เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวจัดส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดหางาน มีบริการแนะแนวอาชีพแก่นักเรียนที่จะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้ทราบถึงอาชีพและลักษณะอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเลือกสาขาที่เรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่มีตลาดแรงงานรองรับ ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศจำนวน 180,180 อัตรา