สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอหอมแก้มผู้ต้องหาในคดีเมาแล้วขับ และเรียกร้องสินบนแลกกับการไม่ดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว จนเป็นข่าวดังในโลกโซเชียล ร้อนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องลงมาดูแลการสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงครับ  

กรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า มีการขับรถในขณะมึนเมา และมีหลักฐานการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยทำความเห็นสมควรสั่งฟ้องหรือไม่สมควรฟ้อง พร้อมกับส่งมอบตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการ เพื่อส่งฟ้องต่อศาลต่อไป  

จากข่าวนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 

ประเด็นที่หนึ่ง หากเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวผู้กระทำความผิดในขณะที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน โดยได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด กรณีแบบนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แต่หากปล่อยตัวผู้กระทำความผิดไป โดยไม่ได้เรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 ครับ 

ประเด็นที่สอง กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอหอมแก้มหรือกระทำอนาจารผู้ต้องหา แต่ไม่ได้เรียกร้องทรัพย์สินหรือเงินทอง จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 หรือไม่  

กรณีนี้เมื่อพิเคราะห์ตามตัวบทกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 กำหนดว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ดังนั้น แม้เจ้าพนักงานจะมิได้เรียกร้องทรัพย์สินหรือเงินทอง แต่การขอหอมแก้มนั้น เป็นการกระทำ เพื่อสนองความใคร่ของตนเอง ย่อมเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกกับการปล่อยตัว หรือไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย การกระทำครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 149  

ทั้งนี้ หากนอกเหนือจากการขอหอมแก้มแล้ว ยังมีการเรียกร้องทรัพย์สินด้วย ยิ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อย่างชัดเจน ความผิดในข้อหาเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 149 นี้แม้จะยังไม่ได้มีการชำระเงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินให้ตามที่เจ้าพนักงานเรียกร้องก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว 

...

ประเด็นที่สาม กรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความผิดในข้อหาอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อีกกระทงหนึ่งด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้น่าสนใจครับ เนื่องจากผู้เสียหายอายุเกินกว่า 15 ปี และยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหอมแก้ม เพื่อแลกกับการปล่อยตัว ดังนั้น จึงเกิดจากความยินยอมของผู้เสียหายเอง กรณีนี้จึงอาจจะไม่เป็นความผิดในข้อหาอนาจารครับ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในขณะนั้นด้วยว่าผู้เสียหายตกอยู่ในสภาพบังคับ โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือไม่ อีกครั้งนะครับ  

อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงจากข่าวปรากฏว่า มีการกระทำอนาจารต่อหน้าผู้คนในห้องขังเป็นจำนวนมาก การกระทำอนาจารที่กระทำต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นคดีความผิดอันยอมความไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 ดังนั้น แม้ว่าผู้เสียหายจะยินยอมให้กระทำอนาจารก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไปได้ครับ 

ตามประมวลกฎหมายอาญา  

มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต 

มาตรา 278 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

มาตรา 281 การกระทำความผิดตาม มาตรา 276 วรรคแรกและ มาตรา 278 นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ใน มาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้  

สุดท้ายนี้ ขอให้รอผลการตัดสินของศาลอีกครั้งนะครับ เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อกฎหมายจากข่าวอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ และอยากให้เข้าใจว่าทุกอาชีพมีคนดีและคนไม่ดีปะปนกันอยู่ครับ ดังนั้น หากเหมารวมว่าอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นคนไม่ดีทั้งหมด อาจจะบั่นทอนจิตใจของคนที่ตั้งใจทำงานได้ครับ 

สำหรับผู้ที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง”  talktoceleb@trendvg3.com หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK