การขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) กะโหลกสัตว์ขนาดเล็กชิ้นหนึ่งที่ติดอยู่ใต้กระดูกเท้าไดโนเสาร์กินพืชชื่อฮิปโปดราโก (Hippodraco) ซึ่งพบในอุทยานแห่งชาติอาร์เชส รัฐยูทาห์ แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยชิคาโกเชื่อว่าจะให้ข้อมูลเชิงลึกและสามารถอธิบายเกี่ยวกับกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดั้งเดิมกลุ่มหนึ่ง และยังย้อนไปทบทวนระยะเวลาช่วงการแยกตัวของมหาทวีปแพนเจีย (Pangaea)
นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่ากะโหลกขนาด 7.5 เซนติเมตรที่มีความสมบูรณ์ชิ้นนี้ เป็นสายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคครีเตเชียส ตั้งชื่อว่าไซเฟลลิโอดอน วาห์การ์มูซัค (Cifelliodon wahkarmoosuch) มีชีวิตอยู่เมื่อ 130 ล้านปีก่อน ขนาดตัวใกล้เคียงกับกระต่ายป่าตัวเล็กๆ มีลักษณะเด่นที่บ่งบอกว่าเจ้าสัตว์ชนิดนี้มีประสาทสัมผัสไวต่อกลิ่น ออกหากินเวลากลางคืน กินพืชเป็นอาหาร อาศัยบนฝั่ง หรือที่ ราบน้ำท่วมถึง ใกล้กับแม่น้ำสายเล็กๆ
ไซเฟลลิโอดอนเป็นสายพันธุ์ใหม่ของฮารามิยิดัน (haramiyidans) มีชีวิตเมื่อ 208 ล้านปีก่อน ฮารามิยิดันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในกลุ่มไซโนดอนต์ (cynodont) อีกที ซึ่งวิวัฒนาการมาจากการรวมสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้าด้วยกัน และสายพันธุ์สุดท้ายของฮารามิยิดันนั้นมีชีวิตอยู่ราว 70 ล้านปีที่แล้ว นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่าการค้นพบไซเฟลลิโอดอน ที่มีเครือญาติสนิทในทวีปแอฟริกา ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ราว 15 ล้านปี.