ใครไม่ได้สูบหรือติดบุหรี่ ไม่จำเป็นต้องอ่าน หรือจะผ่านข้อเขียนนี้ไปเลยก็ได้...เว้นแต่อยากทราบว่าระหว่างบุหรี่จริงกับบุหรี่ไฟฟ้านั้น สรุปแล้วล่าสุด...อย่างไหนมีอันตรายกว่ากัน?
อันดับแรก มาทำความรู้จักกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” (E-cigarette) หรือยาสูบอิเล็กทรอนิกส์กันก่อน “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นอีกวิธีการสูบบุหรี่แบบใหม่ โดยอาศัยอุปกรณ์ที่ให้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (ถ่านขนาดเล็ก) ซึ่งผู้สูบจะได้รับสารนิโคตินเหลว ที่ระเหยกลายเป็นไอและควันเข้าสู่ร่างกาย เช่นเดียวกับการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายด้วยการสูบบุหรี่ทั่วไป เพียงแต่ต่างกันที่...ไม่มีการเผาไหม้ใบยาสูบ
ส่วนประกอบหลักของบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย ตัวบุหรี่ ซึ่งมีส่วนของแบตเตอรี่ กับขวดขนาดเล็กที่ใช้บรรจุของเหลว ซึ่งเป็นสารนิโคตินที่สกัดมาจากใบยาสูบนั่นเอง
ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า กระแสไฟจากแบตเตอรี่จะถูกส่งไปยังขดลวด หรือคอยล์ (Coil) ทำให้เกิดความร้อน จนนิโคตินที่อยู่ในรูปของเหลว หรือที่เรียกกันว่า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า (E-Liquid) ภายในขวด เมื่อสัมผัสกับขดลวดร้อน จะระเหยกลายเป็นไอและควันให้สูดดม
บุหรี่ไฟฟ้ามีดีไซน์หลายรูปแบบ ทั้งแบบเป็นแท่งยาวคล้ายบุหรี่จริง และแบบเป็นกล่องที่ด้านล่าง ซึ่งปัจจุบันแบบกล่อง (Box Mod) ได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด
ในเพจสุขภาพ “ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว” โดย นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือ “หมอแมว” ได้โพสต์ความรู้น่าสนใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าไว้ 2 เรื่อง ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
เรื่องแรก เป็นกรณีของผู้ป่วยสาวอายุ 18 ปีรายหนึ่ง ที่สหรัฐอเมริกา มีอาการหายใจล้มเหลว เกือบเอาชีวิตไม่รอด ผู้ป่วยรายนี้เพิ่งหัดสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้แค่ประมาณ 3 สัปดาห์ เธอเริ่มมีอาการเหนื่อย และมีอาการกำเริบหนักขึ้นเรื่อยๆ จนต้องไปพบแพทย์ หลังจากแพทย์ได้ตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือด พบว่ามีปริมาณออกซิเจนต่ำเหลือเพียง 80 กว่า % เท่านั้น
...
หมอแมวบอกว่า ปริมาณออกซิเจนขนาดนี้ ถ้าเทียบกับการให้คนปกติกลั้นหายใจจนรู้สึกอึดอัดทนไม่ไหว แล้ววัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้วด้วยเครื่องตรวจวัด มักจะได้ค่าไม่ต่ำกว่า 90% ดังนั้น แปลว่าสาวผู้นี้มีอาการเหนื่อยจัด
แพทย์ได้ตรวจหาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด และตรวจหาเชื้อก็ไม่พบความผิดปกติ แต่ผลจากการ x-ray และ CT คอมพิวเตอร์ปอด พบว่า ปอดมีสภาพฝ้าทั่วไปหมด แปลว่า มีอะไรสักอย่างอักเสบ
หลังจากให้ยาฆ่าเชื้อ ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยรายนี้ แต่ร่างกายของผู้ป่วยทนไม่ไหว ในที่สุดแพทย์จึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อยื้อชีวิตไว้ ขณะที่ความดันเลือดแย่ลง ใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว ปริมาณออกซิเจนในเลือดก็ยังไม่เพิ่มขึ้น แถมยังมีน้ำในช่องปอด จนต้องเจาะหน้าอกเพื่อระบายน้ำ
ในที่สุดแพทย์ตัดสินใจเสี่ยงส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม เพื่อนำน้ำข้างในออกมาตรวจ จนพบว่าผู้ป่วยรายนี้มีเซลล์เม็ดเลือดขาว 2 ชนิดที่พบได้ใน ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง
แต่หลังจากให้ยาฆ่าเชื้อแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ตรวจเชื้อก็ไม่พบความผิดปกติ จึงเหลือแต่อาการแพ้ แพทย์จึงให้ยากดภูมิคุ้มกัน ตามด้วยลดยาปรับความดัน จนสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้ภายใน 5 วัน ผู้ป่วยรายนี้จึงรอดตาย
หมอแมวบอกว่า สรุปแล้วผู้ป่วยเคสนี้ เป็น Hypersensitivity Pneumonitis ตามด้วยภาวะ ARDS การหายใจล้มเหลว จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
ซึ่งปกติภาวะเช่นนี้ จะพบได้เมื่อผู้ป่วย ได้รับฝุ่นละออง หรือ มีอาการแพ้สารบางอย่าง นอกจากนี้ ยังพบได้ ในผู้ที่แพ้บุหรี่จริง และ แพ้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีการใช้สารแต่งกลิ่น
อีกกรณีเป็นเรื่องกลไกอิเล็กทรอนิกส์ในบุหรี่ไฟฟ้าเกิดการระเบิด เป็นอีกอุทาหรณ์ที่ “หมอแมว” มีความห่วงใย จึงได้ออกมาเตือน
เป็นกรณีของชายคนหนึ่งที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ตายจากเหตุบุหรี่ไฟฟ้าระเบิด หลังจากมีเหตุสัญญาณไฟไหม้ดัง พนักงานดับเพลิงได้ไปตรวจสอบ เมื่อจัดการกับเพลิงไหม้เสร็จ พบว่าที่ร่างของชายผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ มีร่องรอยบาดเจ็บบนใบหน้า และไฟไหม้ตามร่างกาย รวมทั้งพบบุหรี่ไฟฟ้าที่ระเบิดตกอยู่ข้างๆ
แม้ว่าสาเหตุการตายยังไม่แน่ชัด บางสำนักข่าวว่า อาจตายเพราะไฟไหม้ ส่วนสำนักข่าว CNN บอกว่า ตายเพราะถูกเศษชิ้นส่วนของบุหรี่ไฟฟ้าแบบโมดิฟาย (ดัดแปลง) ระเบิดใส่ใบหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ระเบิดก็เคยเกิดขึ้นกับนักเรียนคนหนึ่งที่นิวยอร์ก ขณะเดินอยู่ดีๆ รู้สึกว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่พกไว้ในกระเป๋ากางเกงร้อนจัด จึงดึงออกมาจากกระเป๋า จากนั้นก็ระเบิดแตกคามือ
ประเด็นนี้ในโลกสังคมออนไลน์ มีหลากหลายความเห็น บางคนว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้กล่องยิงไฟแบบธรรมดา และถ่านที่มีสภาพไม่เยินจนเกินไป ไม่น่ามีปัญหาเรื่องกลไกไฟฟ้าระเบิด แต่ถ้านำบุหรี่ไฟฟ้าไปดัดแปลงแบบยิงสด มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดขึ้นได้ สรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือไม่ อยู่ที่รูปแบบการใช้งานมากกว่า
ส่วนกรณีของไอควันที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้านั้น บางคนมองว่าไม่ต่างจากไอน้ำมัน เพราะสารที่ทำให้เกิดควันในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า คือ vegetable glycerin จึงเหมือนกับการสูดเอาควันจากการเผาไหม้น้ำมันพืชแต่งสีแต่งกลิ่นเข้าปอด ซึ่งโดยทั่วไปก็ให้ควันเยอะอยู่แล้ว อย่างที่บางคนเปรียบเปรยว่า ควันโขมงยังกับควันของรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องยนต์สองจังหวะ
แต่สิงห์อมควันจากบุหรี่ไฟฟ้าบางคน...ยังไม่หนำใจพอ นำบุหรี่ไฟฟ้าไปโมดิฟาย ให้เกิดควันเยอะๆ เร็วๆ แรงๆ ยิ่งกว่าของมาตรฐานเดิมที่ผลิตจากโรงงาน จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้นมาได้
แม้ว่าล่าสุดจะมีการทดลองใช้อาสาสมัครจำนวนหนึ่ง นำโดย พอล เอฟยาร์ด นักพฤติกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับ ปีเตอร์ ฮาเย็ก จากมหาวิทยาลัยควีนแมรี ประเทศอังกฤษ และทีมงานอีกหลายคน ซึ่งมีผู้รู้หลากหลายสาขาเข้าร่วมสังเกตการณ์
...
โดยให้อาสาสมัครซึ่งล้วนเป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัด (วันละ 1 ซองขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ยาก) แบ่งออก 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ยังคงให้สูบบุหรี่จริงต่อไปตามเดิม กลุ่มที่ให้เลิกสูบด้วยวิธีหักดิบ กลุ่มที่ใช้แผ่นนิโคตินแปะตามตัว เพื่อลดความอยากสูบบุหรี่ และกลุ่มที่ให้เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน
ในช่วงเวลา 1 เดือน...ผลการทดลองเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตราย เพราะทุกครั้งที่คนเราสูดไอเข้าปอด เซลล์ในทางเดินหายใจจะถูกทำลาย...เพียงแต่มีน้อยกว่าการสูบบุหรี่จริงหลายเท่า และบุหรี่ไฟฟ้ายังช่วยให้บางคนที่มีความตั้งใจจะเลิกบุหรี่ ใช้เป็นทางเลือกในการเลิกสูบได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบทสรุปชัดเจนสำหรับการใช้ในระยะยาวว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะมีผลกระทบอื่นใดที่เวลานี้ยังมองไม่เห็นอีกหรือไม่ ซึ่งแปลว่า ยังต้องรอผลการศึกษาวิจัยต่อไปในระยะยาว.