บุหรี่แพง ...เลิกสูบบุหรี่กันเถอะ! ว่าแล้วสิงห์อมควันก็หันมาสูบยาเส้นแทน แล้วแบบนี้ต่อให้ช่วยกันรณรงค์เลิกสูบบุหรี่กันมากแค่ไหน สังคมไร้ควันก็จะยังไม่ปรากฏในประเทศไทย
ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแบบนี้ แม้รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีบาปเพิ่มขึ้นนับหมื่นล้านบาทจากบุหรี่โดยเฉลี่ยและรายได้จากภาษีสรรพสามิตยาสูบอยู่ที่ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาทก็คงไม่พอ
“ภาษีบาป” ส่วนใหญ่จัดเก็บจากบุหรี่มวนสำเร็จ ในขณะที่ยาเส้นมีการเก็บภาษีที่ต่ำมากประมาณ 0.005 บาทต่อกรัม ตามที่กฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้ระบุไว้
เมื่อมาดูตัวเลขสัดส่วนผู้ใช้ยาเส้นในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งคือ ราว 5-6 ล้านคนของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดที่มีกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ รัฐบาลคงต้องเตรียมเพิ่มงบประมาณอีกหลายหมื่นล้านบาทให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศด้วยเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบ
เรามาดูกันว่ามีปัจจัยใดที่ทำให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น?
หนึ่ง...“ราคา” ปัจจุบันแม้ยาเส้นจะถูกควบคุมโดยกฎหมายฉบับเดียวกันกับบุหรี่ แต่ราคายาเส้นในท้องตลาดถูกกว่าบุหรี่หลายเท่าตัว
นับจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ปีที่ผ่านมา ราคาบุหรี่ซองขึ้นสูงไปช่วง 60-125 บาท ในขณะที่ยาเส้นยังคงมีราคาประมาณ 10-15 บาทเท่านั้น จึงเป็นจุดจูงใจให้บรรดาสิงห์อมควันหันมาสูบยาเส้นมวนเองมากขึ้น มาตรการภาษีที่คาดว่าจะลดจำนวนผู้สูบอาจกลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดการย้ายตลาดการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบจากตลาดหนึ่งไปอีกตลาดหนึ่งมากกว่าการลดจำนวนผู้สูบได้จริง
สอง...ความเชื่อผิดๆว่า ยาเส้นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ คนไทยตระหนักถึงพิษร้ายของยาเส้นน้อยเกินไป เพราะคิดว่ายาเส้นมาจากธรรมชาติ
...
ไม่มีการใส่สารปรุงแต่งที่เป็นอันตราย ทั้งที่ในความเป็นจริง ยาเส้นก็คือใบยาสูบชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตบุหรี่ แต่ระบบการปลูก หรือผลิตไม่มีการควบคุม หรือวัดค่าของสารพิษตกค้าง
ไม่เหมือนกับชาวไร่ที่อยู่ในระบบ ซึ่งโดยมากส่งใบยาขายให้รัฐ หรือต่างประเทศ ก็จะต้องผ่านกระบวนการควบคุมมาตรฐานการผลิต แต่กระบวนการปลูกและผลิตยาเส้นนี้ยังไม่มีระบบการควบคุมหรือตรวจสอบที่ชัดเจน ส่วนใหญ่ชาวไร่จะปลูกและอัดฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเกินกว่าที่มีการแนะนำให้ใช้ เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากสามารถส่งขายเข้าโรงบ่มได้ราคาดี
ข้อมูลเรื่องสารพิษจากควันยาสูบจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ระบุว่า ในควันยาสูบมีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด เป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และกว่า 50 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งและส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกมากมาย เช่น นิโคติน แม้จะเป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติในใบยาสูบ แต่ถ้าได้รับมากเกินไปทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด ทำลายเนื้อปอดและถุงลมปอด
“ทาร์”...ทำให้เกิดมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้หัวใจและร่างกายส่วนอื่นๆได้รับออกซิเจนน้อย หรือขาดออกซิเจน ทำให้เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มึนงง และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ทำลายเยื่อบุหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม แอมโมเนีย ทำให้หลอดลมอักเสบ ระคายเคือง
สารกัมมันตรังสี ทำให้เกิดมะเร็งปอดและมะเร็งระบบทางเดินหายใจ แร่ธาตุต่างๆ เป็นสารตกค้างในใบยาสูบจากยาฆ่าแมลงเป็นพิษต่อร่างกาย ก่อเกิดมะเร็ง
ส่วนผู้ที่ไม่ได้สูบแต่ได้รับควันจากการสูบ หรือที่เรียกกันว่า “ควันมือสอง”...ควันยาสูบจะส่งผลต่อระบบประสาท ระบบเลือด ระบบทางเดินหายใจและทรวงอก ดังนั้น ควันยาเส้นจึงมีอันตรายเหมือนกับควันบุหรี่ นำพาโรคทั้งหลายมาให้ด้วยเช่นกัน ทั้งมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่คนไทยป่วยตายในอันดับต้นๆเลยทีเดียว
“ยาเส้น...มัจจุราชที่ถูกลืม?”...เรามัวแต่สนใจการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ โดยลืมไปว่า ยาเส้นก็เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราไม่ต่างจากบุหรี่ หลายปีก่อน (2555) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เคยรณรงค์เรื่องอันตรายยาเส้นด้วยแคมเปญ ยาเส้นอันตรายตายเหมือนบุหรี่
มีการทำคลิปโฆษณาเผยแพร่ในโทรทัศน์และยูทูบ (https://bit.ly/ 2FCOhQZ) ให้บรรดาสิงห์อมควันและสังคมได้ตระหนักถึงอันตรายที่เหมือนกันของผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งสองประเภทนี้ แต่ทว่า...กระแสการรับรู้และตระหนักว่า ยาเส้นอันตรายเหมือนบุหรี่ได้จางหายไปตามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
อาจเพราะสังคมไปเพ่งมองเฉพาะอันตรายจากบุหรี่และร่วมมือกันเพื่อลดจำนวนผู้สูบและป้องกันไม่ให้มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ลองดูสถิติข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จะเห็นว่า จำนวนผู้สูบค่อยๆลดลงจากปี 2534-2557 จาก 12.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 11.4 ล้านคน
และคุณรู้หรือไม่ว่า...เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้คือจำนวนผู้สูบยาเส้น
นั่น...อาจประเมินได้ว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบเป็นคนที่สูบ “ยาเส้น”
น่าสนใจว่าในปี 2560 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำให้ประมาณการได้ว่า มีคนไทยอย่างน้อย 1 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่และป่วยหรือพิการด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงจากการสูบ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่รักษาไม่หายขาด และมีค่ารักษาพยาบาลแพง
...
ผู้ป่วยเหล่านี้มีความทุกข์ทรมานและเป็นภาระต่อครอบครัว เป็นภาระต่อการบริการของโรงพยาบาล และเป็นภาระต่องบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่รัฐบาล เนื่องจากผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ต้องใช้บริการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือไม่ก็สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
คำถามสำคัญมีว่า...จะแก้ยังไง? เมื่อราคายิ่งถูก คนยิ่งสูบ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้กล่าวผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในคอลัมน์สารพันปัญหา ตอบข้อข้องใจของประชาชนเรื่องการสูบยาเส้น ที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน พร้อมย้ำให้เห็นโทษภัยของการสูบยาเส้นที่ไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่ ด้วยข้อมูลการสำรวจในปี 2557 พบว่า มีคนไทยสูบยาเส้น 4.2 ล้านคน สูบบุหรี่ 5.2 ล้านคน และสูบทั้งสองอย่าง 1.8 ล้านคน ...ค่าใช้จ่ายบุหรี่ซองต่อเดือนเท่ากับ 639.5 บาทต่อคน ขณะที่ค่าใช้จ่ายสูบยาเส้น 86.5 บาทต่อคน ซึ่งต่างกันถึง 7 เท่า
การขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบเมื่อปลายปี 2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นจากซองละ 40 บาทเป็น 60 บาทสำหรับยี่ห้อที่ถูกที่สุด แต่ “ยาเส้น” แทบไม่ได้รับผลกระทบด้านราคาจากการจัดระบบภาษีที่ผิดหลักการนี้ โดยยังคงขายกันซองละ 5-12 บาท...ฝากไปถึงรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขเรื่อง “ภาษียาเส้น” ให้มีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนผู้สูบลงได้ เนื่องใน “วันงดสูบบุหรี่โลก” ในปีนี้ เราเชื่อว่าทั้งโลกและประเทศไทยจะยังรณรงค์ให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่อยู่ต่อไป ตอกย้ำอันตรายที่มีต่อสุขภาพผู้สูบ ครอบครัว คนรอบข้าง
ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเปลี่ยนให้วันที่ 31 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่และยาเส้นโลก” เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงอันตรายจากควันยาสูบ ช่วยกันรณรงค์ลด...เลิกสูบกันเสียที เพื่อสังคมไร้ควัน.
...