อภ.นำร่อง 4 พื้นที่เขตสาธารณสุขพิเศษปูพรมสางปมกระจายยาสะดุด

ยา!...1 ในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต

เพราะขึ้นชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ล้วน ไม่สามารถขาดปัจจัยทั้ง 4 ในการดำรงชีพ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคได้ และยา คือหนึ่งในปัจจัยหลักเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยหรือเพื่อให้หายขาดจากโรคที่เจ็บป่วยอยู่ รวมทั้งช่วยเสริมสร้าง และซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย ผุพัง เพื่อให้กลับมาใช้ได้เหมือนปกติมากที่สุด

องค์การเภสัชกรรม หนึ่งในหน่วยงานของภาครัฐซึ่งเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการบริหารจัดการกระจายยาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ต่างๆได้ ในส่วนของสถานพยาบาล โดยเฉพาะของภาครัฐ

ข้อมูลจากองค์การเภสัชกรรมระบุว่า มีการกระจายยาทั้งสิ้นจำนวน 320 รายการ เป็นยาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเองจำนวนทั้งสิ้น 125 รายการ โดยในส่วนของยาชื่อสามัญหรือยาในบัญชียาหลักแห่งชาติจะมีจำนวนทั้งสิ้น 126 รายการ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติมีจำนวน 29 รายการ ส่วนยาที่ผู้ผลิตอื่นผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาเชิงสังคม ยากำพร้าหรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำโดยไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้ และมีปัญหาการขาดแคลน แต่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทาบำบัดป้องกันหรือรักษาโรคที่พบได้น้อย และยาที่มีมูลค่าการใช้สูงมีอีกประมาณ 135 รายการ

ทั้ง หากเจาะลึกลงไปถึงมูลค่าการใช้จ่ายยาในตลาดยาของภาครัฐจะพบว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 103,014 ล้านบาท โดยองค์การเภสัชกรรมจะมีหน้าที่ในการกระจายยาผ่านสถานพยาบาลของภาครัฐ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นการกระจายยาให้กับโรงพยาบาลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 1,260 แห่งมีมูลค่าประมาณ 3,627 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 11,475 ล้านบาท

...

แต่ที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งที่มักพบคือปัญหาการขาดยาและเข้าไม่ถึงยาของผู้ป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายขอบหรือพื้นที่ซึ่งการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น ในพื้นที่เกาะต่างๆ องค์การเภสัชกรรมจึงมีการลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาการกระจายยาและสร้างการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ โดยมีการนำร่องในพื้นที่ภาคใต้ ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม เล่าถึงการแก้ปัญหาการขาดยาในพื้นที่ชายขอบว่า องค์การเภสัชกรรมลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานว่ามีการกระจายส่งยาอย่างทั่วถึงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาการกระจายยาตามพื้นที่เกาะต่างๆมีปัญหาในการเข้าถึงยามาก ทั้งน้ำยาล้างไตในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ยาจำเป็นอื่นๆ เช่น ยาวัณโรค ยาโรคเอดส์ ยาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น แต่ปัจจุบันเริ่มดีขึ้นมีการกระจายยาอย่างทั่วถึงขึ้น โดยเฉพาะน้ำยาล้างไตในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีการจัดส่งยาผ่านท่าเรือ และมีไปรษณีย์ไทยช่วยจัดส่งให้อีกต่อ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา

นอกจากนี้ยังต้องมุ่งเน้นว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนที่อยู่ที่พื้นที่ห่างไกลตามเกาะต่างๆ สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ รวมถึงการดูแลนักท่องเที่ยวที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินจากภาวะจมน้ำ เช่น เกาะหลีเป๊ะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็ต้องมีมาตรการการดูแลพิเศษ ทั้งยังอาจต้องมีการจัดระบบการเติมยาในพื้นที่เกาะ พื้นที่ห่างไกล โดยมีการสต๊อกยาให้เพียงพอ การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินอาจต้องมียาบางชนิดมากกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปกติทั่วไป เป็นต้น

“จากการรับฟังพบว่าปัญหาเกี่ยวกับยาบนเกาะ จะพบในเรื่องห้องฉุกเฉิน ที่อยากมียาเหมือนในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วไป เพราะขณะนี้ สามารถใช้ระบบสื่อสารทางไกลกับแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพื่อช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมียา ซึ่งถือเป็นระบบที่ทางจังหวัดต้องให้การสนับสนุน และหากองค์การเภสัชกรรมช่วยได้ก็จะให้การสนับสนุน ทั้งยังพบว่ามีปัญหาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ก็มีนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาให้มีเขตสาธารณสุขพิเศษที่กำหนดไว้ 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ทางทะเล พื้นที่ทางชายแดน พื้นที่เขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) และเขตที่มีแรงงานต่างด้าว โดยมีต้นแบบอยู่ที่จังหวัดพังงา ที่มีการจัดระบบเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เช่น การส่งต่อผู้ป่วยก็จะต้องมีการอาศัยผู้เชี่ยวชาญอย่างทหารเรือ หรือภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้รับยาเร็วที่สุด” นพ.โสภณ ขยายภาพการวางแผนแก้ปัญหายาขาดในพื้นที่พิเศษ

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่าการทำให้ประชาชนทุกคนได้รับปัจจัย 4 ทั้ง อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค อย่างเท่าเทียมถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการได้รับยารักษาโรค เพราะหากเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วควรได้รับการรักษาที่ดีมีคุณภาพ เพราะทุกชีวิตย่อมมีค่า

แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากฝากคือการเอาจริง เอาจังกับการวางมาตรการแก้ปัญหาการส่งยาล่าช้า เพราะต่อให้มีหมอดี เครื่องมือยอดเยี่ยมขนาดไหน ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ หากขาดยาที่ดีมีคุณภาพที่รักษาได้ตรงกับโรค

คงเป็นเรื่องน่าเศร้าโดยเฉพาะในยุคไทยแลนด์ 4.0 หากมีใครต้องสังเวยชีวิตเพียงเพราะการได้รับยาล่าช้า.

ทีมข่าวสาธารณสุข