ดารา เซเลบ เน็ตไอดอล...ผู้มีอิทธิพลในกระแสสังคมยุคดิจิทัล “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้บริโภคที่จะกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ เราก็อยากเห็น...คาดหวังว่าดาราให้ความสำคัญกับเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคด้วย...อย่าเชื่อเครื่องหมาย อย.อย่างเดียว ต้องตรวจสอบก่อน
“ตอนนี้ก็รู้แล้วว่า อย.ไม่ได้ดูอะไรแค่รับจดแจ้งเท่านั้น ในความเป็นจริงก็เป็นปัญหามากโดยเฉพาะเครื่องสำอางกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ตัวดาราเองก็เชื่อด้วยความซื่อสัตย์ของตัวเองจริงๆ”
ในต่างประเทศ ดาราที่จะรับรีวิวต้องใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 6 เดือนจึงจะนำมารีวิวได้
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) บอกอีกว่า ดาราที่รับรีวิวต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ เพราะการรีวิวและเขียนสรรพคุณบอกผู้บริโภคถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ระบุว่า...ข้อความที่โฆษณาต้องไม่ใช่ข้อความที่ไม่เป็นธรรมและเกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ได้แก่ 1.ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง 2.ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง 3.ข้อความที่แสดงสรรพคุณที่เป็นการรักษาโรคหรือที่มิใช่จุดหมายเป็นเครื่องสำอาง
และ 4.ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม
กรณีของเมจิกสกิน ดาราที่รับรีวิวทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในตัวสินค้า จึงเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมายและมีการระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกประเด็นสำคัญ ในมุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “อย.” หรือ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” ควรที่จะต้องเปิดฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณา ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ผู้บริโภค ผู้โฆษณา รวมถึงเจ้าของสื่อโฆษณาสามารถตรวจสอบได้ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆขออนุญาตโฆษณาและคำที่ใช้โฆษณาตรงตามที่แจ้งไว้หรือไม่
ซึ่ง...จะช่วยลดปัญหาการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและโฆษณาเกินจริงได้ด้วย
...
ตัวอย่างข้อความการโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย “...ให้ผลที่น่าทึ่งมากกว่าการทำโบทอกซ์...ป้องกันการเกิดริ้วรอยใหม่และริ้วรอยจากความเครียดและมลพิษ...กระตุ้นการเกิดใหม่ของเซลล์ผิว...ช่วยทำให้กระบวนการเกิดริ้วรอยช้าลง...ช่วยล้างพิษที่ตกค้างอยู่บนผิวหน้า...ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยขับสารพิษออกจากผิว...ช่วยกระตุ้นการเกิดใหม่ของเซลล์” ...“ลบริ้วรอย เสริมสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ เพิ่มการไหลเวียนเลือด”
“เซรั่มต้านการเกิดริ้วรอย รอยบวมช้ำ...ช่วยชะลอการทำงานของเอนไซม์ MMP และชะลอการเกิดอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและรักษาความสมดุลของเนื้อเยื่อผิวใต้ผิวหนัง เพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านมลภาวะริ้วรอย...และรอยบวมช้ำ...”
“...ช่วยแก้ปัญหาทุกๆปัญหาสำหรับคนเป็นสิว เป็นฝ้า ใบหน้าที่หย่อนคล้อย...ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา”...“เปลี่ยนจากคนดำเป็นคนขาว”...“ผิวคล้ำดำแค่ไหนก็ขาวได้”...“ต่อสู้และควบคุมการเกิดสิว”
“เครื่องสำอาง” กับ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” สารี ย้ำว่า เป็นปัญหามาก ดารา...คนดัง...เน็ตไอดอลที่ออกมารีวิวอาจจะเชื่อโดยความซื่อสัตย์ของตัวเองก็ได้ว่ากินแล้วทำให้ผอม กินแล้วทำให้ขาว อาจจะเชื่อแบบนั้นจริงๆ แต่ว่าการพูดแบบนี้ ถ้าเป็นอาหารมันผิดกฎหมาย
“ก็คือว่า...อาหารต้องไม่บอกว่ารักษาโรค ถ้าคุณจะรักษาโรคต้องขึ้นทะเบียนเป็นยา นี่เป็นหลักพื้นฐาน คาดหวังกันว่า ดารา เน็ตไอดอล ผู้มีอิทธิพลทั้งหลายต้องรู้ว่าตัวเองเป็นผู้มีอิทธิพลก็ต้องเรียกว่า มีมิติหรือหลักการหรือการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย”
ต้องคิดถึงคนที่ไม่รู้ คนที่อาจจะเข้าใจผิด...พอคุณไปรับประกันแบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา ถ้าไม่จริงตามนั้นก็ผิดกฎหมาย
ต้องย้ำชัดเจนเลยว่า ถ้าอาหารเสริมห้ามพูดว่ารักษาโรค เพิ่มพลัง ทางเพศ ฯลฯ...ที่ผ่านมาอาจจะอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่กรณีเมจิกสกินที่เกิดขึ้นน่าจะกระตุ้นเตือนให้เกิดความตื่นตัวในวงการมากขึ้น คนที่รีวิวผลิตภัณฑ์ขายของ...ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องระวังให้มาก
“รู้กันแล้ว...ก็หวังว่าปัญหาเหล่านี้จะลดลง อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก... อย.ทำอะไรได้มากกว่านี้แน่นอน อย่างเช่นไม่ใช่ปรับคนที่โฆษณาผิดแค่ว่าไม่ขออนุญาตก็คือ 1,000-5,000 บาทเท่านั้นเอง แต่ควรไปดูด้วยว่าเป็นเท็จเกินจริงไหม...โทษจะเพิ่มมากขึ้น”
“อย.” หรือ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” จัดการให้ลงลึกไปอีกหน่อยเหมือนให้รู้สึกว่าแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ที่พูดถึงมากอย่างนี้ก็เพราะว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพทำให้มีคนตาย อย่างเช่น มีข่าวคนกินแมงลักตาย กินยาลดความอ้วนตาย...หรือคนกินอาหารเสริมแล้วตาย เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน
คนที่รีวิวทั้งหลายต้องระมัดระวัง จะดูออกได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ไหนใส่สารอันตรายปนเข้ามาบ้าง กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างลดความอ้วนได้ไปใส่สารเคมีที่เป็นอันตรายไหม เรื่องเหล่านี้ดูไม่ได้ด้วยตาเปล่า?
แต่ว่า...ผลที่เกิดขึ้นหลังจากกินแล้ว บางคนอาจจะใจสั่นก็ต้องรู้ไว้เลยว่ามีสารบางอย่างปะปนมาเป็นอันตราย เตือนให้หยุดกินได้แต่ว่ากับบางคนกินแล้วเสียชีวิตทันที
“เราไม่ควรเลยที่จะมีใครตายด้วยการกินอาหารที่ไม่ปลอดภัยน่าจะเป็นหลักการร่วมกันระหว่างคนที่ทำสินค้า ขายสินค้า คนที่ช่วยโฆษณาทั้งหลาย รวมทั้งคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วย”
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ทำเรื่องเหล่านี้มาต่อเนื่องยาวนาน เฉพาะปีนี้เรื่องอาหาร...ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้รับร้องเรียนเข้ามามากที่สุดในจำนวนกว่า 3,000 เรื่อง ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
...
สารี ยกตัวอย่างคดีหนึ่งที่มูลนิธิเข้าไปช่วยฟ้องแทนผู้บริโภคเรื่องเครื่องสำอาง ตั้งแต่ระดับร้องเรียนผู้เสียหาย 45 ราย ใช้ครีมที่บอกว่าขาวแล้วปรากฏว่าทำให้ขาลายหมด เราทำหนังสือไปถึงสาธารณสุขจังหวัดที่ผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เราไม่ได้รับความร่วมมือจาก อย.เลยในการตอบ
“แต่...สาธารณสุขจังหวัดตอบกลับมาว่า มีสารเคมีที่เป็นอันตรายก็เลยขอให้ อย.เอาผลิตภัณฑ์นี้ออกจากท้องตลาด เรียกว่าไม่ให้ขายเพราะรู้ว่าอันตราย แต่ไม่มีใครทำเลยจนกระทั่งเราต้องไปฟ้องคดี”
การไปฟ้องก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก ขณะนี้มูลนิธิแพ้คดีศาลชั้นต้นว่าไม่ให้เราทำคดีแบบกลุ่มให้ทำทีละราย ก็คิดดูนะว่า 45 ราย เมื่อไหร่เราจะทำจบ เมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคจะได้รับการเยียวยา แล้วเราขอว่าให้เอาสินค้าออกจากตลาดก่อน ให้ศาลคุ้มครองก่อน...ขณะนี้ยังไม่ไต่สวน
กระบวนการคุ้มครองความเสียหาย “ผู้บริโภค” จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แบบสับสวิตช์หลอดไฟ...เปิดติด ปิดดับ กระบวนการที่จะเยียวยาผู้บริโภค กระบวนการที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคหลังจากเกิดความเสียหายแล้วทุกส่วนควรให้ความสำคัญมากกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้เห็นว่า...ป้องกันปัญหา ไม่ให้คนที่ทำกล้าที่จะทำอีก
มาตรการตัดสินที่ชัดเจน รวดเร็ว ถือว่า...เป็นการป้องปราบไปด้วยในที
ผู้เล่น (เจ้าของผลิตภัณฑ์) ต้องทำตามกฎกติกา แต่ก็ใช่ว่าผู้คุมกฎอย่าง อย.จะดูอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆเท่านั้น ต้องแอ็กชั่นจริงจัง มีมาตรการที่เท่าเทียมทั่วถึงผู้เล่นทั้งหมดอย่างเสมอภาค อย่าให้ใครกล่าวหาได้ว่า ไม่แฟร์...เลือกปฏิบัติ จัดการลงโทษได้เฉพาะกับผู้เล่นที่อยู่ในมุมสว่างเท่านั้น
โดยเฉพาะสังคมดิจิทัลที่ทั้งเร็ว แรง กว้างขวางทุกวันนี้...ยังมีหลืบมุมอีกไม่น้อยที่ยังคืบคลานเข้าไปไม่ถึง.
...