อาชีวะวิเคราะห์จุดอ่อนวีเน็ตรายวิทยาลัย ปลุก นศ.เห็นความสำคัญ


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือผลวิเคราะห์คะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ที่จัดสอบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ปีการศึกษา 2560 เพราะการสอบโอเน็ตจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในอนาคต โดยสภาการศึกษา (สกศ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ร่วมกันวิเคราะห์ พบว่าปัญหาใหญ่ที่คะแนนโอเน็ตต่ำมาจากกลุ่มโรงเรียนด้อยโอกาส แต่ก็พบโรงเรียนด้อยโอกาสบางแห่งจัดการศึกษาได้ดีเช่นกัน ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องหลักสำคัญที่ผู้บริหาร ศธ.ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ เท่ากับว่าเรายังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่

ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (วีเน็ต) ปี 60 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีผู้เข้าสอบ 133,243 คน และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 120,817 คน พบว่าคะแนนวีเน็ต ปวช.อยู่ที่ 41.60 เพิ่มขึ้นจากปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.67 มีนักศึกษาทำคะแนนเฉลี่ยดีเยี่ยม 254 คน ขณะที่ระดับ ปวส.คะแนนวีเน็ตร้อยละ 37.11 ลดลงจากปี 59 ร้อยละ 0.24 มีนักศึกษาที่ทำคะแนนได้ดีเยี่ยม 21 คน ทั้งนี้ ตนมีแนวทางยกระดับคะแนนวีเน็ตโดยต้องการให้วิทยาลัยและนักศึกษาเห็นความสำคัญการทดสอบนี้ ซึ่งได้กำหนดแนวปฏิบัติให้ทุกวิทยาลัยนำคะแนนวีเน็ตมาใส่ไว้ในใบสำเร็จการศึกษาของผู้เรียนด้วย แนวทางนี้จะเป็นผลดีต่อผู้เรียนเมื่อไปทำงานในสถานประกอบการจะได้เห็นว่านักศึกษาอาชีวะมีทักษะวิชาชีพที่เก่งแล้วยังมีความโดดเด่นด้านวิชาการด้วย

“ที่ผ่านมา พบว่านักศึกษาเมื่อเข้าทำงานไม่สามารถเป็นหัวหน้างานได้ ยังขาดทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะการคิดและการแก้ปัญหา การส่งเสริมให้เด็กเห็นความสำคัญการสอบวีเน็ตจะทำให้เด็กตั้งใจเรียนตั้งแต่ในห้องเรียนในวิชาทฤษฎี และยกระดับความสามารถของตนเองได้ ขณะเดียวกันรมว.ศธ.ยังย้ำให้นำผลคะแนนโอเน็ตและวีเน็ตไปใช้ประโยชน์สู่การปฏิบัติ ผมจึงได้ตั้งคณะทำงานวิเคราะห์จุดอ่อนเป็นรายวิทยาลัย เพื่อยกระดับผลคะแนนทั้งระบบ” เลขาธิการ กอศ.กล่าว.

...