สะพานเชื่อมวัฒนธรรมไทย-ไต้หวัน หรือ “นักแปล” ชื่อไทยว่า น.ส.กาญจมาส ลิ้มอุดมสุข ชื่อไต้หวัน นานี หลิน เจ้าของนามปากกา จิ่ง เหวิน แปลวรรณกรรมไทยให้นักอ่านไต้หวันได้ชื่นชม ผลงานของเธอมีไม่ต่ำกว่า 40 เล่ม

คนไต้หวันอยู่ๆมาแปลวรรณกรรมไทยได้อย่างไร เธอบอกว่า พื้นฐานของเธอเกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง นั่นคือพ่อเป็นคนไทย แม่เป็นคนไต้หวัน เรียนจบประถมที่ไทย จากนั้นกลับไปเรียนมัธยมที่ไต้หวัน

“เพราะเราเกิดที่ประเทศไทย เมื่อมาเรียนที่ไต้หวันก็สอบได้ที่โหล่เลย ตอนนั้นอายุราวๆ 12 ขวบ เข้าเรียนก็มีปัญหาเรื่องภาษา เรารู้ภาษาไต้หวันแบบงูๆปลาๆ” เธอยอมรับ

ครั้นหลังจากการปรับตัวได้ก็เรียนดีขึ้น จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยด้านวิศวะเครื่องกล ทำให้ได้งานในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่อุตสาหกรรมบางชัน “เรียนมาทางวิศวะเครื่องกล แต่เอาเข้าจริงเขาให้ไปทำบัญชี เราไม่รู้เรื่องเอกสารอะไรเลย แต่ก็ค่อยๆเรียนรู้ไป”

ความเป็นลูกครึ่งทำให้เพื่อนๆชาวไต้หวันให้แปลข่าวสารดาราไทยให้อ่าน กิจกรรมสนุกสนานนี้ เธอเริ่มตั้งแต่ “สมัยเรียนมัธยม เพื่อนๆสนใจเมืองไทยก็ให้แปลข่าวสารต่างๆ ทั้งข่าวดารา สถานที่ท่องเที่ยว เราก็แปลคร่าวๆให้เพื่อนๆไป ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก”

พลางย้อนอดีตว่า “ดาราไทยที่เพื่อนๆสนใจสมัยนั้น เช่น โดม–ปกรณ์ ลัม เจมส์–เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ และอีกหลายคน เราแปลให้กันอ่านในกลุ่มเล็กๆ ต่อมามีหนังเรื่องเดอะชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ เข้าไปฉายในไต้หวัน ทำให้ดาราไทยเริ่มบูมขึ้นมาตามลำดับ”

ดาราไทยคนอื่นๆที่สาวไต้หวันคลั่งไคล้ อาทิ ณเดชน์ คูกิมิยะ ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ และน่าแปลกที่ดารารุ่นใหญ่อย่างเบิร์ด-ธงชัย แมคอินไตย์ ก็อยู่ในความสนใจของชาวไต้หวัน การฟังเพลงของเบิร์ดและคนอื่นๆ เธอบอกว่า ดูจากยูทูบที่มีซับเป็นภาษาจีนไต้หวัน

...

หลังจากฝึกแปลซับเพลงมาพอสมควร นานี หลิน ก็เริ่มแปลบทความ และขยับมาแปลวรรณกรรม การเลือกเรื่องนำไปแปลนั้น เธอบอกว่ามีสองทางคือ 1.สำนักพิมพ์นำเรื่องมาให้แปล และ 2.สนใจเรื่องไหนก็นำเสนอให้สำนักพิมพ์

กรณีสำนักพิมพ์เลือกเรื่องมาให้แปล “สำนักพิมพ์จะติดต่อมา ถามเราว่ารับได้ไหม แปลได้ไหม ถ้าเรารับได้ก็แปล ตอนนี้แปลไปแล้วประมาณ 40 ปก โดยแปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาจีนไต้หวัน นี่ยังไม่รวมหนังสือเด็กที่ยิบย่อยอื่นๆ”

วรรณกรรมที่แปล “มีทั้งสารคดี เรื่องสั้น บทความ นิยาย และยังมีหนังสือสอนภาษาอย่างสอนภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน หนังสือเรียนภาษานี้ สำนักพิมพ์เขาสนใจวิธีการสอนของไทย”

เรื่องสั้นและนวนิยาย เช่น “เมื่อฉันลืมตาแล้วโลกเปลี่ยนไป ผลงานของผมอยู่ข้างหลังคุณ, พระเจ้าเป็นหมา ผลงานขององอาจ ชัยหาญชีพ นวนิยายเรื่อง โซตัส ที่ทำเป็นซีรีส์ ‘พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง’ และนิยายวาย ตลาดตรงนี้จะมีกลุ่มเฉพาะที่รับได้มาหาซื้ออ่าน เราทำหน้าที่แปลอย่างเดียว เรื่องลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์จะเป็นผู้ดำเนินการเอง”

เสน่ห์ของเรื่องสั้นและนิยายของไทยเธอบอกว่า “อยู่ที่ความคิด มุมมองต่อโลก ต่อชีวิต ส่วนเรื่องสำนวนภาษานั้น เวลาอ่านจริงๆ ความสละสลวยจะมาไม่ครบ ที่สัมผัสได้คือ เนื้อเรื่อง ตัวละคร และการเดินเรื่องดึงดูดความสนใจได้ดี ตัวอย่างเช่น ดำเนินเรื่องได้น่าอ่านสนุกสนาน และเปิดเผยความลับภายหลัง เป็นต้น”

ตลาดไต้หวันไม่ได้ต้องการแค่เรื่องสั้น นวนิยาย แต่ต้องการบทความ หรือที่เรียกกันว่า “ฮาวทู” ด้วย บทความเหล่านี้ สำนักพิมพ์ไต้หวันผลิตเพื่อป้อนให้เยาวชนได้อ่าน เป็นหนังสือ “แนวให้กำลังใจ หาทางออกให้กับปัญหาต่างๆในชีวิต บางปัญหาบางคนเห็นว่ามันเป็นทางตัน แต่ฮาวทูของไทยให้ทางออก แนวนี้เป็นที่นิยมอยู่ช่วงหนึ่ง เดี๋ยวนี้ซาๆลงไปบ้างแล้ว”

แต่ละเล่มใช้เวลาประมาณ 2–4 เดือน “ค่าแรงจ่ายตามจำนวนคำ เราต้องตกลงกับสำนักพิมพ์ก่อนว่าจะให้คำละเท่าไร การคิดราคาดูกันที่ความยากง่ายในการแปลด้วย ปกติก็ 1,000 คำ ประมาณ 800 บาท จำนวนคำเราดูที่เวิร์ดหน้าจอเลย แค่ไหนก็แค่นั้น”

ปัจจุบันเธอตั้งหน้าตั้งตาแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาไต้หวันเป็นหลัก โดยมีสำนักพิมพ์ที่ติดต่อกันอยู่ราว 6 สำนักพิมพ์ สาเหตุที่ต้องมีหลายสำนักพิมพ์เธอบอกว่า แต่ละแห่งมีความต้องการต่างกัน การติดต่อกับหลายสำนักพิมพ์ ทำให้เธอได้ทำงานต่อเนื่อง

อาชีพนักแปล “พออยู่ได้เพราะไม่มีภาระมาก เราเข้าใจอยู่แล้วว่า การทำงานแปลไม่สามารถหาเงินก้อนใหญ่ๆมาได้ แถมยังได้เงินช้าด้วย เรื่องนี้เราเข้าใจดี ถ้าอยากจะได้เงินดี ได้เงินมากๆ อาจจะต้องไปเป็นล่าม แต่เราไม่เลือก เราเลือกเป็นนักแปลเพราะชอบเสน่ห์ของตัวอักษร ถ้อยคำ บทสนทนา เหล่านี้ทำให้เรารักและยึดอาชีพนี้ต่อไป”

ปัจจุบันเธอนั่งแปลวรรณกรรมไทยอยู่ที่เมืองเกาสง อยู่ทิศใต้ของไทเป นั่งรถต่อไปอีกประมาณ 5 ชม. “แถวบ้านเป็นเมืองอุตสาหกรรม ตอนนี้เริ่มพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว กำลังจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปถึง”

เมื่อถามว่าไม่อยากเขียนเองบ้างหรือไร เธอตอบว่าก็อยากเขียนสารคดี อยากมาเก็บเรื่องราวการดำน้ำทางใต้ของประเทศไทย “เอามาเขียนแนะนำว่า เส้นทางทางไหนควรไปไม่ควรไป เคยคิดจะเขียนเองเป็นภาษาจีน”

ครั้นถามถึงอาชีพนักแปลของเธอ สุข ทุกข์อย่างไร เธอยิ้มอย่างอารมณ์ดีก่อนตอบว่า “ถ้าจะเป็นนักแปลในไต้หวัน ต้องมีความเข้มแข็งพอสมควร ต้องรู้จักโซเชียลว่า ภายในวงการ นายจ้างเจ้าไหนเป็นอย่างไร แชร์ประสบการณ์กัน เราจะได้ไม่ต้องไปเผชิญด้วยตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักใครเลย ไม่มีข้อมูล รับงานมา อาจจะมีผิดพลาดได้”

...

ส่วนเรื่องรายได้ “ถ้าแปลหนังสืออย่างเดียว ต้องบอกว่าค่อนข้างจะต้องฟิกซ์เรื่องค่าใช้จ่าย รายได้เราไม่มาก สนพ.ค่อนข้างกด และสนพ.ก็ได้เม็ดเงินน้อยลงเหมือนกัน เราก็เห็นใจในเรื่องนี้ เจอค่าแปลอาจไม่ทำเลยก็ได้ แต่จะให้เขามาเอาตามอำเภอใจก็ไม่ได้ เราต้องดูข้อมูลว่าเขาคิดแบบไหน ทำอย่างไร”

การจัดสรรเวลา เธอบอกว่า ทำงานอิสระต้องมีวินัย เพราะไม่มีใครมาบังคับ ต้องดูแลตัวเอง เรื่องวินัยสำคัญมาก เธอจัดเวลาทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ กำหนดไว้ว่าต้องแปลให้ได้วันละกี่หน้า เพื่อให้มีเวลาหยุดวันเสาร์ อาทิตย์บ้าง

ช่วงว่างจากงานแปล “เราไม่มีรายได้อื่น อาจจะใช้เวลาให้มีประโยชน์ด้วยการถักโครเชต์ ถักโครเชต์เป็นการเรียนรู้ไปด้วย เมื่อเราแปลเรื่องถักโครเชต์ เราก็จะแปลได้ง่าย เพราะเทคนิคหลายๆอย่างในหนังสือบางเล่มเราต้องเรียนรู้ว่ามันคืออะไร และการเรียนรู้เหล่านั้นก็กลายเป็นผลพลอยได้ของเราไปด้วย”

ในฐานะ “สะพานเชื่อมวัฒนธรรม” เธอบอกว่า “อยากให้งานดีๆ ของคนไทยให้คนไต้หวันได้อ่าน เพราะความจริงแล้ววรรณกรรมไทยมีมากมาย เรื่องที่น่าสนใจ เช่น ความรู้พื้นบ้านของไทยที่คนไต้หวันยังไม่รู้ อยากให้คนไต้หวันหาข้อมูลวัฒนธรรมไทยได้ง่ายๆ ไม่ต้องเดา อย่างการทำบายศรี ทำไมต้องบายศรี ไม่ต้องหาคนไทยมาถามก็หาความรู้จากหนังสือได้”

ความฝันของเธอคือ “อยากให้ข้อมูลสังคมไทย วัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์ไทยอยู่ในภาษาจีนให้หลากหลายประเภทที่สุด เพื่อความหลากหลายในความรู้ของคนไต้หวัน”.