“191 เป็นที่พึ่งแรกของประชาชน” เมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้าย ขอความช่วยเหลือตำรวจหมายเลข 191 เป็นที่รู้จักของประชาชนมานาน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่ประชาชนมักจะเกิดคำถามกับศูนย์ 191 โทร.ติดยาก ไม่มีคนรับสาย เข้าระงับเหตุใช้เวลานาน กลายเป็นความหงุดหงิด รำคาญต่อระบบรับแจ้งเหตุของตำรวจ เพราะระบบที่ใช้มานาน ล้าสมัย ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในยุคไทยแลนด์ 4.0

อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาความสับสนของประชาชน รัฐบาลปล่อยให้มีสายด่วนรับแจ้งเหตุใช้เป็นร้อยเป็นพันสาย จะแจ้งรถพยาบาลเจ็บ ป่วย หน่วยกู้ภัย คนจำไม่ได้ทำ ให้การช่วยเหลือ ระงับเหตุล่าช้า ขาดคนกลางประสานงาน เพราะคนส่วนใหญ่โทร.หาหมายเลข 191 ให้ตำรวจประสานงานต่อให้สะดวกกว่าประสานหมายเลขอื่น

ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานรัฐ ไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกัน และปล่อยให้มีสายด่วนมากเกินไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดว่าจะพัฒนาให้สายด่วน 191 มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น เชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอบสนองการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที มอบให้สำนักงานตำรวจแห่ง ชาติเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

...

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะ-เวช ผบช.น. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. มาตรวจเยี่ยม ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ และรับฟังบรรยายสรุปสถานภาพกำลังพล ภารกิจของศูนย์รับแจ้งเหตุ 191

ผบ.ตร.ได้เข้าไปตรวจสอบขั้นตอนการรับแจ้งเหตุ และได้รับโทรศัพท์รับแจ้งเหตุด้วยตนเอง พบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่โทร.เข้ามาเพื่อป่วนหรือก่อกวน ทั้งโทร.เข้ามาแล้วไม่พูด โทร.เขามาแล้ววางสายปีละกว่า 1 แสนสาย ซึ่งสายป่วนหรือก่อกวนต่างๆเหล่านั้นล้วนเข้ามาขโมยวินาทีชีวิตของประชาชนผู้อื่นทั้งสิ้น

สถิติทั่วประเทศปี 2560 มีประชาชนโทรศัพท์เข้าหมายเลข 191 เฉลี่ยปีละ 10 ล้านสาย โดย 191 ของนครบาล มีสายเข้าเป็นร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ คือปีละประมาณ 4 ล้านสาย เฉลี่ยสายเข้าวันละ 3,200 สาย เดือนละ 300,000-400,000 สาย ขณะที่เลขหมายที่โทร.ป่วน สถิติล่าสุดอยู่ที่ 100 สาย เฉลี่ยวันละ 3,200 สายต่อวัน ซึ่งเป็นเหตุให้บางรายโทร.แจ้งเหตุไม่ติด และหากทราบว่าบุคคลใดที่โทร.ป่วน จะมีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี

ภาพรวมการรับแจ้งเหตุของศูนย์ 191 ถือว่าเป็นไปด้วยความรวดเร็วเท่าที่ระบบจะทำได้ ตำรวจทุกนายปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถ แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบ อุปกรณ์ที่ใช้มานาน ต้องปรับเปลี่ยน

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. อดีตผู้การ 191 ที่เคยวางระบบรับแจ้งเหตุใหม่ ผลักดันให้เหมือนต่างประเทศ มีระบบรับแจ้งเหตุหมายเลขเดียว แต่เชื่อมโยงข้อมูลกันทั้งหมด

ปรับเปลี่ยนการรับแจ้งเหตุของศูนย์วิทยุ 191 เดิมจากระบบ C3I ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ที่ล้าสมัยไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาได้อีก แผนที่ในระบบไม่เป็นปัจจุบันมาเป็นระบบใหม่ ระบบระบุพิกัดผู้แจ้ง ระบบแผนที่ และระบบสั่งการ เมื่อประชาชนโทร.เข้า 191 ระบบจะแสดงที่ตั้งหรือสถานที่อยู่ต่อตำรวจทันที

สมัยนั้นดูดีผิดหูผิดตา ประชาชนได้รับการช่วยเหลือมีการตอบรับที่ดีจากผู้ที่แจ้งเหตุ 191

ระบบโทร.ติดง่ายขึ้น รับสายเร็ว 60 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่รับสายผลัดละ 30 คน ให้บริการประชาชนได้ร้อยละ 96 มีส่วนแปลภาษา ที่ปรึกษากฎหมายตลอด 24 ชม. หากเป็นอุบัติเหตุก็จะเชื่อมต่อไปที่โรงพยาบาล หน่วยงานกู้ภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ระบบการเชื่อมโยงหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน

...

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผลักดันระบบการรับแจ้งเหตุ ได้รับการอนุมัติและอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงระบบการทำงานของตำรวจ 191 ปรับเปลี่ยนกำลังพลที่ปฏิบัติงานทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานรับสายที่ว่าจ้างเอกชน มีความเพียงพอต่อการให้ บริการประชาชน 60 คู่สาย เจ้าหน้าที่รับสายผลัดละ 30 คน มีล่ามแปลภาษาและที่ปรึกษากฎหมายบริการตลอด 24 ชั่วโมง

แต่จุดบกพร่อง คือ บางจังหวัดมีศูนย์ 191 ไม่สอดคล้องกับกำลังพล เนื่องจากผู้รับสายยังไม่ทราบว่าประชาชนขอความช่วยเหลือจุดใด หรือการไม่ถนัดในเรื่องพื้นที่ และสถานีตำรวจนครบาล ก่อนจะเรียกใช้พนักงานวิทยุให้ตรงกับพื้นที่รับผิดชอบ จึงเสนอให้ข้าราชการตำรวจเก่าในพื้นที่ที่เกษียณไปแล้วมาช่วย

ปัญหา Server ของระบบมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้ระบบขาดความเสถียร และขัดข้องบ่อยครั้ง พนักงานรับสายจะต้องทำงานซ้ำซ้อน โดยจะต้องเขียนข้อมูลการรับแจ้งเหตุลงในแผ่นกระดาษอีกครั้ง เพื่อนำส่งให้พนักงานวิทยุติดต่อสถานีตำรวจพื้นที่ต่อไป ทำให้ระยะเวลาในการตอบสนองต่อเหตุด่วนยาวนานขึ้น ซึ่งเหตุอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ
ทุกวินาทีล้วนมีค่าต่อประชาชนผู้ประสบเหตุเสมอ

...

แต่ภายในอีก 3 ปี ผบ.ตร.ผลักดันให้ปรับปรุงศูนย์ 191 ให้เป็น ศูนย์รับแจ้งเหตุแห่งชาติ มีระบบที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้สมสโลแกน “เหตุด่วนเหตุร้ายแจ้ง 191”

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ใช้หมายเลข 191 รับแจ้งเหตุ ฉุกเฉินหมายเลขเดียวทั้งประเทศ แต่ในปัจจุบันยังพบว่าประชาชนคลางแคลงต่อการทำงานของ 191 โทร.ไม่ติด หรือโทร.แล้วไม่มีผู้รับสาย โทร.แล้วไปถึงที่เกิดเหตุล่าช้า หรือไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่เกิดเหตุ จึงมาตรวจสอบให้เห็นกับตาว่ามีปัญหาในการปฏิบัติ มีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการให้บริการประชาชน และการก้าวไปสู่ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์รับแจ้งเหตุได้ใช้ความพยายามกันอย่างเต็มกำลังความสามารถในการตอบสนองและให้บริการต่อเหตุฉุกเฉินต่างๆของประชาชน นำเครื่องมือสื่อสารส่วนตัวมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ แต่ด้วยปัจจัยข้อขัดข้องทางเทคโนโลยีที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงาน ทำให้ระยะเวลาในการตอบสนองต่อเหตุเพิ่มมากขึ้น การปรับปรุงและพัฒนาศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นระบบการรับแจ้งเหตุหลายช่องทาง ระบบรับแจ้งเหตุระบบระบุพิกัดผู้แจ้งเหตุ ระบบการประชุมสายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ระบบควบคุมสั่งการที่ทันสมัย หรือการใช้องค์ความรู้ในการรับแจ้งเหตุจะช่วยลดระยะเวลาในขั้นตอนการรับแจ้งเหตุและส่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเข้าระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้อง ประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติได้เป็นอย่างดี”

...

เป็นนโยบายรัฐบาล คสช. แก้ได้ตรงจุด ให้ ผบ.ตร.ยกระดับศูนย์ 191 เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุแห่งชาติ ตอบสนองช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีรวดเร็ว

หมายเลข 191 จะได้กลายเป็นที่พึ่งแรกของประชาชนอย่างแท้จริง.

ทีมข่าวอาชญากรรม