องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยกย่องสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษของสหประชาชาติ ด้านการขจัดความหิวโหย ทรงเป็นผู้นำและต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและปรับปรุงโภชนาการของเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งหลายประเทศควรนำไปเป็นแบบอย่าง

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการเตรียมเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 34 ณ เมืองนาดี สาธารณรัฐฟิจิ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 เม.ย.นี้ว่า ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่มีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนาย ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม เข้าร่วม ประชุม ในวันเดียวกันนี้ ได้รายงานมายังประเทศไทยว่า นางกุณณ์ทาวี กถิรสาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้แทนเอฟเอโอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้กล่าวยกย่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษ (Special Ambassador) ของสหประชาชาติ ด้าน Zero Hunger (การขจัดความหิวโหย) ซึ่งพระองค์ทรงงานด้านการพัฒนาโภชนาการและความมั่นคงอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นผู้นำและต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร และปรับปรุงโภชนาการของเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารมานานกว่า 30 ปี ซึ่งหลายประเทศควรนำไปเป็นแบบอย่าง

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเกษตรของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 46 ประเทศ เพื่อร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อการขจัดความอดอยากหิวโหย รวมทั้งขึ้นกล่าวถ้อยแถลงถึงการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีโครงการพระราชดำริ เน้นแก้ไขปัญหาดินและน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนมาปรับใช้ในการ บริหารจัดการทรัพยากรการผลิตที่ดี ส่งเสริมให้มีสินค้าเกษตรและอาหารที่ดี นำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว เพื่อขจัดความหิวโหยในระดับประเทศ และยืนยันท่าทีประเทศไทยที่พร้อมร่วมมือดำเนินการกับประชาคมโลกด้วย

...

“การประชุมครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และวิกฤติด้านอาหาร พลังงาน และเศรษฐกิจ ต่อสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค และร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และการจัดลำดับความสำคัญของความช่วยเหลือที่ภูมิภาคต้องการได้รับจากเอฟเอโอ” นายกฤษฎากล่าวและว่า ในการประชุมครั้งนี้ ไทยจะถือโอกาสหารือทวิภาคีร่วมกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้แทนเอฟเอโอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือทั้งในประเด็นที่เอฟเอโอสนใจ และประเด็นที่ไทยสนใจ เช่น การลดจำนวนผู้อดอยากหิวโหย การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู และเรื่องความร่วมมือระหว่างไทยและเอฟเอโอ ในการพัฒนาภาคการเกษตรด้วย