“ปฏิทิน...ของท่านหลายองค์กรที่ส่งเข้าประกวด สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยได้มอบให้ผมนำไปแจกจ่ายแก่ราษฎรในชนบทที่ห่างไกลได้ใช้ประโยชน์เป็นอันมาก เพราะเป็นของมีราคาแพงและหายาก…เมื่อราษฎรได้รับไปจะดีใจมาก ต่างได้เรียนรู้จากสื่อถาวรนี้อย่างมีความหมาย เกิดความรู้และสามารถประสานกับสื่ออื่นๆที่มีอยู่เป็นอย่างดี”

ข้างต้นคือคำกล่าวของ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรีฐานะประธานในพิธีมอบรางวัลปฏิทินดีเด่น รางวัล “สุริยศศิธร” ครั้งที่ 38 ประจำปีพุทธศักราช 2561

“ปฏิทิน”...แปลว่าแบบสำหรับดู วัน เดือน ปี สามารถเขียนได้เป็น “ประติทิน” ในภาษาสันสกฤต หรือ “ประฏิทิน” (บาลีแผลง)

ประเทศไทยมีการพิมพ์ปฏิทินครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2385 ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้พิมพ์ แต่คาดว่า “หมอบรัดเลย์” พิมพ์ด้วย เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ที่มีผลงานหนังสือมากมาย

และในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทยได้แก่ “ประนินทิน” ลงโฆษณาในหนังสือสยามไสมย ของหมอสมิท เขียนคำโฆษณาไว้ตอนหนึ่งว่า “ประนินทินนี้ แจ้งให้รู้ถึงการอื่นเป็นอันมากอันควรคนทั้งปวงจะรู้ ถ้าไม่รู้เขาจะนินทาว่าคนโง่”...แจ้งราคาขายไว้ในสมัยนั้นเล่มละ 4 บาท... ปัจจุบันยังหาประนินทินของหมอสมิทไม่พบ

ปฏิทินในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่น่าสนใจได้แก่ ปฏิทินพกเล่มเล็กๆที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้พิมพ์เป็นของชำร่วย สำหรับแจกพระราชทานแก่ขุนนางที่ลงนามถวายพระพรในวันขึ้นปีใหม่ ปฏิทินพกแบบนี้ยังมีแจกต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งบุคคลธรรมดาก็สามารถไปลงนามถวายพระพรและรับปฏิทินหลวงได้

...

“ปฏิทินเล่ม”...ยังมีรายละเอียดในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เวลาน้ำขึ้น...น้ำลง การเดินทางของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย...นอกจากนี้ยังมีสมุดบันทึกอีกแบบหนึ่งที่บอกรายละเอียดวัน เดือน ปี เรียงไปตามลำดับ...มีหน้าที่สำหรับจดบันทึกหมายเหตุรายวัน รวมถึงวันสำคัญ วันเวลานัดหมาย ฯลฯ

ที่เรียกว่า “ไดอารี่ (Diary)” หรือ “สมุดบันทึกประจำวัน” ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้

“ปฏิทินไดอารี่” เริ่มมีใช้ในเมืองไทยเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูงคือ “ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5”...เมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยูร โมสิกรัตน์ กรรมการตัดสิน รางวัลปฏิทินดีเด่นรางวัลสุริยศศิธร ครั้งที่ 38 บอกว่า ปัจจุบันรูปแบบผลงานปฏิทินอาจจะมีเพิ่มขึ้นมาโดยให้มีการโหลดคิวอาร์โค้ดเพื่อเปิดใช้ในมือถือ คอมพิวเตอร์ เพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาให้ทันสมัยมากขึ้น

ด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ถูกลดบทบาทลงไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ แต่ “ปฏิทิน” ก็ยังไม่เลือนหายไปในความนิยมหลายบริษัท หลายสถาบัน ยังคงออกแบบ ค้นหาวัสดุ วิธีการในการพิมพ์สร้างสรรค์ให้แปลกหูแปลกตา อาจจะลดงบประมาณไปบ้าง แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งคุณค่า เอกลักษณ์

หวนนึกถึงปฏิทินในอดีต 10 กว่าปีที่แล้ว...แข่งขันกันสูงมาก ยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังเป็นสื่อหลักอยู่ ทั้งไซส์ เนื้อกระดาษ วิธีการผลิตเป็นรูปแบบต่างๆ...น่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว

“สมัยก่อนเลิกทำหน้าที่ปฏิทินแล้วก็ยังนำมาใส่กรอบเป็นรูปประดับฝาบ้านได้ด้วย แต่เดี๋ยวนี้อาจจะหายากแล้ว...จากวันเวลาที่ผ่านมากลายเป็นความเปลี่ยนแปลง”

กระนั้น “ปฏิทิน” ยังทำหน้าที่อยู่ในวันนี้ แม้ว่าจะกดดูได้ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แต่การเปิด...หยิบปฏิทินบนโต๊ะ แขวนข้างฝาดูนั้นก็ยังทำหน้าที่ปฏิทินได้ดีอยู่ ยังทิ้งไม่ได้...ยังคงสืบต่อไป

ปฏิทินกับคนไทยผูกโยงกันมานานแล้ว แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีจะมีมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็ใช้กันในกลุ่มคนรุ่นใหม่...กับคนรุ่นเก่าถึงจะใช้ยังไงก็ไปไม่ได้ไกลมากนัก ด้วยความถนัด ความคุ้นเคย เขาก็ยังต้องการใช้อะไรที่ยังเป็นแมนนวลอยู่ ส่วนมากก็จะใช้ปฏิทินแขวน เพราะสะดวก ติดอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น

“เกณฑ์การตัดสินเหมือนกันทุกปีตามสาระสำคัญ ประเภทหัวข้อ ต้องตรง...กำหนดทำเรื่องอะไรต้องชัด อย่าไขว้เขว ชัดอยู่ในความของเรา ทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็นปฏิทินไม่ว่าจะเป็นรูปประกอบ ตำแหน่ง ต้องชัด จะพบเห็นข้อบกพร่องทั้งผู้ประกอบการก็ดี ศิลปินก็ดีไม่เข้าใจตรงนี้”

ถัดมา...เมื่อตรงกับหัวข้อแล้ว สิ่งสำคัญก็คือความถูกต้องของภาพ ข้อความ ถ้าบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งเกรดก็ต้องลดลง ต่อไปก็เป็นคุณภาพวัสดุ การผลิต ถ้ามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆคะแนนก็จะเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างปฏิทินแขวน ต้องแขวนได้ นิ่งอยู่เป็นปี...หากแขวนอยู่สองเดือนแล้วห่อม้วน พับเลยก็ถือว่าไม่ได้ ไม่เหมาะกับการใช้งานจริง เรียกได้ว่าต้องครบเครื่องเรื่องใช้สอยและประเทืองใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยูร แม้ว่าจะประทับใจอะไรยากอยู่สักหน่อย แต่ก็มีชิ้นประเทืองใจเช่น “หัตถศิลป์ผ้าไทย สายใยแห่งพระเมตตา” การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง “ผ้า” อย่างชัดเจน สวยงามในแง่รูปแบบ โครงสร้างมั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มไม่พับง่าย พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับผ้าต่างๆ

อนาคต “ปฏิทิน”...ยังคงต้องมีผู้คนทั่วไปยังต้องการใช้ นอกจากจะมีฟังก์ชันในเรื่องการดูวันเวลา วันพระ วันหยุดแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นงานตกแต่งฝาผนัง โต๊ะทำงานด้วย สรรพสิ่งล้วนมีองค์ประกอบตัวตนต้นกล้วยก็ สวยงามทั้งลูก...ดอก ส่วนอื่นๆ ให้ประโยชน์หลากหลาย ทุกอย่างก็เหมือนกัน มีฟังก์ชันหมด...ทั้งสวยงามด้วย

...

“บ้านเมืองก็เหมือนกัน ผลิตภัณฑ์ก็เช่นกัน เราต้องทำไปด้วยกัน ทั้งเรื่องประโยชน์ใช้สอย และความสวยงาม”

อภินันท์ จันทรังษี นายกสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ย้ำว่า ปฏิทินมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมาเนิ่นนานแล้ว การประกวดจัดขึ้นเป็นปีที่ 38 แล้วเช่นกัน...การที่เน้นปีการจัดก็หมายถึงว่าเราจัดอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับ เป็นที่นิยม

“กิจกรรมใดก็ตามที่ทำได้ต่อเนื่องมา ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยม ที่สำคัญก็คือการประกวดปฏิทินแต่ละปีที่ผ่านมาเราได้เน้นในเรื่องของการพิจารณาโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์...กรรมการ แต่ละท่านที่มาล้วนมีความคิดอิสระ มีวินิจฉัย การพิจารณาข้อมูลต่างๆโดยถ่องแท้ มีการถกแถลง พูดคุยกัน”

มุมมองกรรมการตัดสินแต่ละท่านชัดเจน ทางสมาคมฯจะไม่เข้าไปให้ความเห็นในเรื่องการพิจารณาเลยแม้แต่น้อย ผลตัดสินที่ออกมาจึงเป็นที่ยอมรับของผู้คน อย่างที่อาจารย์ได้กล่าวไปแล้วว่า “ปฏิทิน” มิใช่เพียงบอกแค่เรื่องวันเวลาเท่านั้น แต่กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้าน

ถ้า “ปฏิทิน” สวยงาม คนที่รับไปก็อยากจะตั้งไว้ในห้องรับแขก ไม่ว่าจะเป็นตั้งโต๊ะหรือแบบแขวนก็ตาม สิ่งสำคัญปีนี้ก็คือการที่มุ่งเน้นในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์

อภินันท์ บอกอีกว่า จะเห็นมีภาพของพระเจ้าอยู่หัวที่งดงามในภารกิจต่างๆที่ทรงงานทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงพระราโชบาย รับรู้ถึงสิ่งที่ท่านทรงงานเหน็ดเหนื่อยมาตลอด

“ปีนี้มีผู้ส่งเข้าประกวดมากกว่าปีที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดี แสดงว่ามีผู้ให้ความสนใจ สำคัญที่สุดก็คือความยุติธรรม ความเที่ยงธรรมในการตัดสิน กิจกรรมทั้งหมดเป็นความร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นมาถึงปีนี้”

“ปฏิทิน” มีคุณค่า สะท้อนวิถีไทย ความเป็นชาติไทยตามยุคสมัย...“คนไทย” จึงควรใช้ปฏิทินให้คุ้มค่ามากที่สุด.

...