ธัญญา - กาญจนา
"วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก" หยุดล่า ค้า ครอบครองเพื่อนร่วมโลกที่ถูกคุกคาม
ร่วมปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน!
ข้อความรณรงค์บนโซเชียลมีเดียของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันทำหน้าที่สายตรวจโซเชียลเป็นหูเป็นตาและแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ผ่านสายด่วนกรมอุทยานฯ 1362
การรณรงค์ครั้งนี้ ถือเอาวันที่ 3 มี.ค. ซึ่งเป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day)” ประจำปี 2561 เป็นวันดีเดย์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจกรณีคณะ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย และพวกตกเป็นผู้ต้องหาลักลอบล่าสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และหันมาสนใจในประเด็นการปกป้องสัตว์ป่าที่เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศมากยิ่งขึ้น
การรณรงค์ที่ถือเอาวันที่ 3 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ประกอบไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจของสัตว์ป่า 5 ชนิดที่มักตกเป็นเหยื่อของการค้าและครอบครองโดยผิดกฎหมายมากที่สุดคือ เสือดาว นาก นกเงือก เต่า นางอาย และซากสัตว์ป่าทั่วไป
“วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ปีนี้องค์การสหประชาชาติกำหนดประเด็นหลักคือ “Big cats : predators under threat” หรือสัตว์ป่ากลุ่มแมวใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสัตว์นักล่าที่มีพรสวรรค์มากที่สุดของโลก แต่วันนี้นักล่าเหล่านั้นกำลังเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ความขัดแย้งกับคนที่รุกล้ำพื้นที่และการค้าที่ผิดกฎหมาย อาทิ ประชากรเสือโคร่งที่ลดลง 95% ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา” นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุถึงความสำคัญของวันสัตว์ป่าโลก ที่ตรงกับสถานการณ์การล่าเสือดำภายในประเทศไทยพอดี
...
แน่นอนทุกคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสือดำจะไม่ตายฟรี และมาตรการป้องกันสัตว์ป่าและพืชป่าในประเทศไทยจะทวีความเข้มข้นและมีผลบังคับใช้ได้จริงจัง
“สถานการณ์สัตว์ป่าและพืชป่าในประเทศไทยดีขึ้นมาก การอนุรักษ์และจัดการสัตว์ป่ามีการจัดการมุ่งเน้นในการควบคุมป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า โดยการลาดตระเวนเชิงคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้มีความสมบูรณ์ มีการจัดการแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งโป่ง และฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าโดยการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทำให้ทรัพยากรสัตว์ป่าหลายชนิดมีประชากรเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด เช่น เสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.) ห้วยขาแข้ง ตั้งแต่ปี 2550-2560 พบประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นจาก 40 ตัว เป็น 65ตัว และยังพบว่ามีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่มีเขตการกระจายกว้างขึ้น เช่น กวางผา สำรวจโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียง-ดาว ในปี 2561 พบว่ามีการกระจายในพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น คือ ขสป.ดอย-เชียงดาว 100 ตัว ขสป. อมก๋อย 25 ตัว ขสป.แม่เลา-แม่แสะ 9 ตัว ขสป.ลุ่มน้ำปาย 1 ตัว อช.ดอยอินทนนท์ 47 ตัว อช.แม่ปิง 7 ตัว อช.ดอยผ้าห่มปก 6 ตัว อช.แม่สุรินทร์ 2 ตัว เป็นต้น” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว
ยังมีประชากรสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่มีการฟื้นฟูประชากรในธรรมชาติจาก โครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ เช่น เนื้อทรายมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์ 725 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง จนกรมอุทยานฯประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเนื้อทรายในธรรมชาติโดยสามารถถอดชื่อออกจากบัญชีสัตว์ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้ม ครองสัตว์ ป่า2535ได้ รวมทั้ง ละอง ละมั่ง ไก่ฟ้าหางลายขวาง วัวแดง อีกทั้งยังมี โครงการฟื้นฟูความหลากหลายทางพันธุกรรมของจระเข้น้ำจืดในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่แผนการจัดการสัตว์ป่าของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
ขณะที่สัตว์ใหญ่อย่าง ช้างป่า ไม่ต้องพูดถึง ปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ในธรรมชาติประมาณ 3,216-3,341 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่าอาศัยอยู่มาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออกและกลุ่มป่าแก่งกระจาน
สำหรับสถานการณ์พืชป่า น.ส.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพรรณพฤกษชาติประมาณ 303 วงศ์ 1,363 สกุล และ 10,250 ชนิด มีพืชหายากกว่า 801 ชนิด พืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ มี 598 ชนิด พืชใกล้สูญพันธุ์ มี 184 ชนิด พืชที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 20 ชนิด พืชที่ใกล้ถูกคุกคาม 26 ชนิด พืชถิ่นเดียวที่มีความกังวลน้อยที่ใกล้จะสูญพันธุ์ 6 ชนิดและมีพืชที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติแล้ว 2 ชนิดคือ ฟ้ามุ่ยน้อย วงศ์ Orchidaceae และโสกระย้า วงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า วันอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าโลก สำหรับประเทศไทยปีนี้มีความตื่นตัวมาก เพราะสถานการณ์การล่าสัตว์ป่าถูกสังคมต่อต้านอย่างหนัก หมายความว่า สังคมและประชาชนมีความตระหนักและใส่ใจอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพิ่มมากขึ้น
...
เพราะสัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่โบราณกาลและมีวิวัฒนาการมายาวนาน ทั้งสัตว์ป่าหลายชนิดมีความเป็นนักล่าเพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิต ผิดกับมนุษย์บางคนที่กลายร่างเป็นผู้ล่า เพียงเพื่อความสนุก ท้าทาย หรือมองเป็นเกมกีฬาที่พิสูจน์ความเป็นผู้ชนะเหนือนักล่าทั้งปวง จนทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ลงไปเรื่อยๆ
ถึงเวลาแล้วที่สังคมและทุกคนจะต้อง... ร่วมกันปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดินอย่างจริงจังเสียที!
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม