สาหร่ายสีเขียวที่เกิดขึ้นจากแม่น้ำโขงมีชื่อเรียกเป็นภาษาถิ่นว่า “ไก” มีลักษณะเป็นเส้นสายเหมือนเส้นด้าย ยึดเกาะบนก้อนหินใต้แม่น้ำโขงที่มีน้ำไหลลึกประมาณ 2-3 เมตร มีแสงสว่างส่องถึง อุณหภูมิน้ำไม่ต่ำกว่า 7-10 องศา

เก็บได้ปีละหนึ่งครั้ง ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี

คนโบราณเชื่อว่าสาหร่ายเป็นยาอายุวัฒนะ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ระบายความร้อน รักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง ชะลอความแก่ ทำให้ผมดกดำ

อีกทั้งเป็นอาหารที่ปรับอุณหภูมิให้เกิดความสมดุลในร่างกาย เมื่อกินสาหร่ายแล้วมีความรู้สึกว่าเย็นสบายไม่ร้อนหรือไม่หนาวจนเกินไป

อาจารย์ปิยนุช ศิริธาราธิคุณ เกริ่นนำ

อาจารย์ปิยนุช ชาวบ้านเรียกครูตุ่น เป็นอดีตครูประจำวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านเมืองกาญจน์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 ตำแหน่งครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ อายุ 60 ปี

สาหร่ายไกจากแม่น้ำโขง เป็นอาหารจากธรรมชาติที่มีราคาถูก ไร้สารพิษและอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินและธาตุอาหารอีกหลายชนิด มีมากแถวหมู่บ้านเมืองกาญจน์ ตำบลริมโขง และบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ปัจจุบันนอกจากมีการเพาะเลี้ยงสาหร่าย ยังมีการนำเข้าจาก ญี่ปุ่นและจีน

ครูตุ่นบอกว่า สาหร่ายนำเข้าต้นทุนสูง ราคาแพง คุณค่าทางโภชนาการมีน้อยกว่าสาหร่ายจากแม่น้ำโขง (ไก) ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ครูตุ่นมีตัวอย่าง นักเรียนโรงเรียนบ้านเมืองกาญจน์ ไม่สนใจกินสาหร่ายที่ปู่ ย่า ตา ยาย ปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น แกงสาหร่าย ห่อหมกสาหร่าย หรือสาหร่ายป่น (ไกยี)

ครูตุ่นเคยถาม ทำไมถึงไม่ชอบกิน เด็กตอบว่า กลิ่นคาวของสาหร่ายแรงมาก ทั้งมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก

ครูตุ่นได้ไปขอความร่วมมือจากผู้ปกครองและภูมิปัญญาท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ได้เรียนรู้ ตั้งแต่วิธีการเก็บเกี่ยวสาหร่าย ซึ่งคนในท้องถิ่นเรียกว่า “จกไก”

...

“จกไก” หมายถึง การเอามือล้วงลงในน้ำ ดึงเอาสาหร่ายที่ติดอยู่กับก้อนหินใต้น้ำขึ้นมา โดยเอาจากหางน้ำไม่เอาจากหัวน้ำ จะได้ไม่มีทรายติด จากนั้นล้างสาหร่ายไปมาในน้ำ เพื่อให้เศษดินหรือสิ่งที่เกาะติดสาหร่ายหลุดออก บิดสาหร่ายให้แห้ง ปั้นเป็นก้อน เก็บใส่ไว้ในตะกร้าหรือถุง เก็บมาล้างทำความสะอาดด้วยเครื่องซักผ้า

ส่วนการตากสาหร่ายก็ใช้เทคนิคเฉพาะ คือตากบนแผ่นหญ้าคาแทนการตากในตะแกรง เพราะแผงหญ้าคามีลักษณะโปร่ง ลมเข้าได้ทุกทิศทาง ช่วยให้สาหร่ายแห้งได้เร็ว

“ถ้าตากกับแสงอาทิตย์แรงจ้าเกินไป สีเขียวของสาหร่ายจะซีด” ครูตุ่นว่า “เมื่อแห้งแล้วเก็บใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่น เพื่อไม่ให้ถูกลมหรือแสง เป็นการถนอมอาหาร”

วิธีการเก็บสาหร่าย สมัยก่อนชาวบ้านเก็บสาหร่ายเอาไว้กินอยู่ได้ไม่เกิน 2 เดือน สีจะขาวหม่นและเหม็นคาว ยิ่งไว้นานยิ่งเหม็นคาว

ครูตุ่นค้นหาวิธีการกับพี่สะใภ้ พบว่า ถ้าใส่ถุงพลาสติกปิดให้มิดชิดใส่ถุงดำอีกที แล้วใส่ในกล่องกระดาษไม่ให้โดนแสง วิธีนี้จะเก็บได้นานถึง 2 ปี เวลาจะใช้ก็เอาออกไปตาก รสชาติต่างจากสาหร่ายสดแค่นิดเดียว

ครูตุ่นยังได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนสืบค้นข้อมูลงานวิจัยต่างๆที่สนใจเกี่ยวกับสาหร่ายมาเป็นเวลานานนับ 10 ปี จากคุณแก้วมาลา ปาละกูล นักวิทยาศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

แล้วเริ่มทำโครงงานมหัศจรรย์สาหร่าย (ไก) จากแม่น้ำโขง โดยให้นักเรียนศึกษาวิธีดับกลิ่นคาวของสาหร่ายไก ด้วยการทดลองใช้สมุนไพรในท้องถิ่นที่มีสารรสเปรี้ยว ได้แก่ น้ำมะเขือเทศ น้ำมะขามเปียก น้ำมะนาวและหัวน้ำส้ม

ผลการทดลอง ประสิทธิภาพของน้ำมะขามเปียก มีสารดับกลิ่นคาวได้ดีมาก

จากนั้นนำสาหร่ายที่ไม่มีกลิ่นคาวไปแปรรูปเป็นอาหาร ได้แก่ สาหร่ายปรุงรสสมุนไพร (ไกน้ำข่า) น้ำพริกคั่วสาหร่าย หมี่กรอบน้ำพริกคั่วสาหร่าย ไข่ทรงเครื่องสาหร่าย แซนด์วิชน้ำพริกคั่วสาหร่าย สาหร่ายป่นปรุงรสสมุนไพร (ไกยี) ซาลาเปาสาหร่าย ขนมปังกรอบหน้าสาหร่าย และขนมปังปิ้งหน้าสาหร่าย

ครูตุ่นนำนักเรียนไปเรียนการทำข้าวเกรียบสาหร่าย จากคุณยายมณี ศักดิ์เรืองฤทธิ์ ประธานกลุ่มสตรีแม่บ้านบ้านหาดไคร้ สร้างรายได้ระหว่างเรียนให้แก่นักเรียน

ต่อมา ผอ.โรงเรียนเห็นเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเรื่องการนำนวัตกรรมใหม่ๆให้ส่งเข้าประกวด ได้มาปรึกษาครูตุ่นส่งข้อมูลเรื่องสาหร่าย จนได้เข้าโครงการของนักธุรกิจน้อย ชื่อหนังสือเรียนรู้สู่เส้นทางอาชีพ นักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เล่ม 1

และการสอนงานอาชีพสู่ความเป็นเลิศ นักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาได้เป็นตัวแทนของภาคเหนือเข้าแข่งขันการแปรรูปอาหาร ในการแข่งขันทักษะวิชาการในงานศิลปหัตถกรรมระดับชาติ ปีการศึกษา 2554 ได้รับรางวัลเหรียญทอง (อันดับ 5) ที่เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ปี 2555 ได้รับเหรียญทอง (อันดับ 2) ในรายการเดียวกัน

ปี 2556 และปี 2557 เป็นตัวแทนของภาคเหนือเข้าแข่งขันการแปรรูปอาหาร ทำซูชิจากข้าวดอยด้วยสาหร่ายแม่น้ำโขง ได้ที่ 1 รับรางวัลงานศิลปหัตถกรรมระดับชาติ ปี 2558 ได้ที่ 2 และปี 2559 ได้ที่ 3

ครูตุ่นบอกว่า ตอนนั้น ผอ.โรงเรียน ถึงกับบอกว่า ครูตุ่นไม่ต้องสอนภาษาไทย ให้ขึ้นมาสอนงานอาชีพมัธยมศึกษาได้แล้ว

ไม่นาน เมื่อครูตุ่นได้เกษียณอายุไปสอนหนังสือที่โรงเรียนของญาติที่ลาว สอนอยู่ 1 ปี เคยไปเสนองานที่ภูฏาน และหลวงพระบาง

ครูตุ่นเล่าว่า หมู่บ้านที่ไปทำสาหร่ายกันทั้งหมู่บ้าน แต่วิธีการไม่เหมือนกับบ้านเรา ที่ลาวจะทำเหมือนกระดาษสา คือล้างสาหร่ายให้สะอาดแล้วสับให้ละเอียด

จากนั้นแช่น้ำแล้วช้อนขึ้นมาตากบนแผ่นมุ้งลวด เหมือนแผ่นกระดาษสา เนื้อเรียบสวย พอใกล้แห้งก็โรยงา ใส่น้ำปรุงใช้ตอกมัดรวมกัน จุ่มน้ำปรุงแล้วพรมไปที่สาหร่ายอีกที

...

แต่น้ำปรุงของคนไทยผสมเกลือ ผงชูรส บางคนใส่ซีอิ๊วขาว กระเทียมสับ น้ำมะขามเปียกผสมลงไปทำให้ไม่มีกลิ่นคาว

ครูตุ่นบอกว่า ตอนนี้ริมโขงบ้านเราไม่ค่อยมีสาหร่าย เนื่องจากจีนปล่อยน้ำจากเขื่อน ทำให้สาหร่ายไม่เกิด ครูตุ่นจึงรับเอาสาหร่ายจากหลวงพระบางมาขายให้แม่ค้าในตลาดเชียงของ รับมาทีครั้งละ 1,000 แผ่น

ตอนนี้ครูตุ่นกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด เลขที่ 102 หมู่ 12 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำพอร์ตโฟลิโอ (แฟ้มสะสมผลงาน) เพื่อไปสอนโรงเรียนนานาชาติที่หลวงพระบาง

ครูตุ่นจบโทด้านบริหาร ตั้งใจจะไปเป็นนักวิชาการ ใช้ชีวิตช่วงปลายให้มีความสุข กับงานดูแลกิจกรรมของโรงเรียน.