ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดตัวธนบัตรในรัชกาลที่ 10 รุ่นแรก โดยมีแนวคิดเฉลิมพระเกียรติ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี ทั้งหมด 5 ชนิดราคา โดย 3 ชนิดราคาแรก 20 บาท 50 บาท และ 100 บาทเริ่มออกใช้วันจักรี 6 เม.ย. ส่วนชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท ออกใช้วันที่ 28 ก.ค. วันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 10 ยันไม่มีการเก็บคืนธนบัตรรุ่นเก่า ยังใช้หมุนเวียนในระบบชำระหนี้ได้ตามกฎหมายได้ปกติจนกว่าจะเสื่อมสภาพ

ไทยมีธนบัตร “รัชกาลที่ ๑๐” รุ่นแรกแล้ว ทั้งนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ว่า ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17) ทุกชนิดราคา เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป โดยธนบัตรแบบใหม่นี้ออกแบบภายใต้แนวคิดเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี โดยธนบัตร 3 ชนิดราคาแรก คือ 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท จะออกใช้ในวันจักรีวันที่ 6 เม.ย. อีก 2 ชนิดราคาคือ 500 บาทและ 1,000 บาท ออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ วันที่ 28 ก.ค.

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ธนบัตรแบบ 17 นี้ โดยรวมมีขนาดและสีเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ 16 ด้านหน้าของธนบัตรได้รับพระราชทานพระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ มาออกแบบเป็นภาพประธานในธนบัตรทุกชนิดราคา ด้านหลังของธนบัตรออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยได้เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์เรียงตามลำดับรัชกาลเป็นภาพประธานของธนบัตรแต่ละชนิดราคา โดยมีภาพประกอบเป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย

...

ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนบัตรแบบ 17 นี้ ได้กำหนดให้รูปแบบของธนบัตรมีความต่อเนื่องกับธนบัตรแบบ 16 ที่ยังคงเน้นความสวยงาม รักษาเอกลักษณ์ไทย ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1 คู่กับรัชกาลที่ 2 มีภาพประกอบพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี กับทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพประกอบพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 2 เป็นภาพจากบทละครเรื่องอิเหนา

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 3 คู่กับรัชกาลที่ 4 มีภาพประกอบแสดงถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 3 ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เจริญก้าวหน้า ส่วนภาพประกอบพระราช–กรณียกิจในรัชกาลที่ 4 เป็นภาพหอชัชวาลเวียงชัย พระนครคีรี จ.เพชรบุรี ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 คู่กับรัชกาลที่ 6 โดยมีภาพประกอบพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ยังผลให้ ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชได้สืบมา รวมทั้งได้ทรงนำวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศมาพัฒนา บ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ส่วนภาพประกอบพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 6 เป็นภาพทรงฝึกกองเสือป่าที่ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีขึ้นในหมู่ราษฎร

สำหรับธนบัตรชนิดราคา 500 บาท นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นธนบัตรแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 7 คู่กับรัชกาลที่ 8 มีภาพประกอบพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 7 ที่พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 แก่ปวงชนชาวไทย ส่วนภาพประกอบพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 8 เป็นภาพการเสด็จฯไปเยี่ยมราษฎรที่สำเพ็ง ธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 คู่กับพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีภาพประกอบพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 9 ทรง รับดอกบัวจากราษฎร ส่วนภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 10 เป็นภาพขณะทอดพระเนตรแผนที่ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎร บริเวณโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา จ.นราธิวาส เพื่อพัฒนา แหล่งน้ำและบรรเทาภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก ในวันที่ 6 เม.ย. ประชาชนสามารถเบิกถอนธนบัตรแบบที่ 17 แบบใหม่ ได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคาร พาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับธนบัตรแบบ 16 และทุกแบบที่ออกใช้ก่อนหน้านี้ก็ยังสามารถใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนได้เช่นเดิม ไม่มีการยกเลิกธนบัตรชนิดราคาใดๆ และแบบใดทั้งสิ้น ยังคงสามารถที่จะใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และ ธปท.ไม่มีนโยบายเรียกคืนธนบัตรแบบเก่า แต่ยังคงใช้หมุนเวียนจนกว่าจะหมดสภาพของธนบัตรชนิดนั้นๆ