นอกจากเข้าชมพิพิธภัณฑ์ตำรวจกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นคณะของชมรมนักข่าวกองปราบปรามและตัวแทนนายตำรวจ กก.ปพ.บก.ป.ได้มีโอกาสสัมผัสการทำงานและมุมมองของสื่อในแดนปลาดิบท่ามกลางวิกฤติจากกระแสสังคมโซเชียลทั่วโลก

แต่ที่ สถานีโทรทัศน์ฟูจิ ช่องรายงานข่าวสารระดับต้นของโตเกียวยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบ เหตุเพราะชาวญี่ปุ่นไม่นิยมเสพข่าวจาก “เพจเถื่อน” หรือ “สื่อเทียม” เหมือนบางประเทศ

เช่นเดียวกับ หนังสือพิมพ์ซังเค ที่มียอดขายติดอันดับ 5 ของญี่ปุ่น ทว่า สร้างเว็บไซต์ข่าวเป็นอันดับ 1 ของบรรดาสื่อหลัก แต่ไม่ทำให้ความนิยมของการอ่านหนังสือพิมพ์ลดน้อยลงไป

นายฮิโรชิ มิกาซา หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซังเค ยังเล่าถึงการทำงานระหว่างสื่อกับตำรวจในญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาช้านาน แต่ด้วยที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยเกิดคดีอาชญากรรมลึกลับซับซ้อน ทำให้บ่อยครั้งเขาสงสัยภาพข่าวอาชญากรรมของสื่อเมืองไทยเหมือนกัน

มิกาซายอมรับว่า รู้สึกตื่นเต้นมากทุกครั้งที่เห็นตำรวจไทยเอาผู้ต้องหามาแถลงโชว์ขนาดนี้ จนตัวเขาอยากไปทำเองแบบนี้ด้วยซ้ำ

เมื่อถามถึงตำรวจญี่ปุ่นมีข่าวพฤติกรรมทุจริตรับส่วย รับเงินใต้โต๊ะบ้างหรือไม่

หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซังเค คิดอยู่พักใหญ่ ก่อนสารภาพว่า เป็นความแตกต่างกันของทั้งสองประเทศ พอเวลาเจอคำถามแบบนี้ คนญี่ปุ่นตอบยากมาก เพราะไม่รู้สึกไม่ดีกับตำรวจ แม้ว่าเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็ตอบไม่ถูกว่า ทำไมตำรวจญี่ปุ่นถึงดี

เจ้าตัวน้ำเสียงจริงจังผ่านล่ามว่า ตำรวจที่ประพฤติทุจริตไม่เคยเห็นเลยด้วยซ้ำ และกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกพอสมควรสำหรับคนญี่ปุ่นที่เจอคำถามแบบนี้

เหตุผลเขามองว่า ประเทศญี่ปุ่นมีกฎระเบียบที่รุนแรง การไล่ออกจากราชการไม่เหมือนเมืองไทย สำหรับคนญี่ปุ่นมันเหมือนการจบชีวิต คนที่มาเป็นตำรวจ ทุกคนอยากเป็นจริงๆ เพราะฉะนั้น จะไม่มีใครทำลายสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองอยากเป็น

...

ตำรวจญี่ปุ่นเลยไม่ทำ และไม่กล้าที่จะทำ

เล่นเอาคณะนายตำรวจกองปราบปรามทึ่งไม่น้อย!!!

สหบาท