หัวใจของระบบตำรวจชุมชนประเทศญี่ปุ่นเป็นอะไรที่น่าศึกษายุคหนึ่งของ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พยายามนำมาปรับใช้ทำเป็น “โครงการตำรวจเพื่อชุมชน” (Community Policing)
แต่ผลสุดท้ายกลับล้มเหลวจากปัญหาแทรกซ้อนภายในองค์กรสีกากีเอง
อะไรที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเชื่อมั่นศรัทธาตำรวจในป้อมชุมชนเมืองที่เรียกว่า โคบัง (Koban)
พ.ต.อ.ไกรวิน วัฒนสิน รอง ผบก.ตท. เคยเขียนไว้ในบล็อกส่วนตัวเมื่อหลายปีก่อน ตรงกับคณะชมรมนักข่าวกองปราบฯและทีมตำรวจ กก.ปพ.บก.ป.ไปสัมผัสมาระหว่างเยือนกรุงโตเกียวในครั้งนี้
นอกจากบุคลิกภาพ ท่าทางและท่าทีช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนแล้ว พ.ต.อ.ไกรวินยังมองไปถึงกิจกรรมที่น่าสนใจของระบบตำรวจชุมชนญี่ปุ่น
เริ่มต้นตั้งแต่เดิน สำรวจความต้องการของประชาชน ทุกเดือน มี.ค.ในแต่ละปี ถือเป็นการเยี่ยมเยียนประชาชนตามที่พักอาศัย และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของตำรวจไปพร้อมกัน
มีการจัดตั้ง “คณะที่ปรึกษาตู้ยาม” เพื่อให้ความช่วยเหลือตำรวจ มีจุดมุ่งหมายที่คอยสอดส่องดูแลปัญหาและความต้องการของประชาชน เพื่อลดอาชญากรรมและอุบัติภัยในท้องถิ่น อีกทั้งจัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่เชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นระหว่างตำรวจกับประชาชน
รู้จักกันในนาม เอกสารตำรวจตู้ยาม (police box papers) เนื้อหาจะเกี่ยวกับข่าวของเพื่อนบ้าน อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ และมาตรการในการป้องกัน ตลอดจนการแนะนำสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็ก และเยาวชน
แจ้งเตือนภัยอาชญากรรม ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจแจก “บัตรตรวจ” ตามบ้าน รวมถึงส่งข่าวเด็ก ช่วยส่งคืนของหาย ข่าวเกี่ยวกับการเล่นที่เป็นอันตรายแก่เด็กไปยังผู้ปกครอง
พบปะประชาชน เน้นประชากร กลุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เช่น คนชรา คนพิการที่อยู่โดดเดี่ยว ก่อนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกัน
...
ที่สำคัญ คือ จัดกิจกรรมเยาวชนสัมพันธ์ แนะนำเยาวชนให้เล่นกีฬา รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีตำรวจสายตรวจสร้างกิจกรรมเป็นสื่อกลางเข้าถึงประชาชน เช่น การสอนยูโด เคนโด้ หรือกีฬาอื่นๆ
เป็นสิ่งที่ตำรวจญี่ปุ่นทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน.
สหบาท