มีโอกาสร่วมทริปเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นตามคำเชิญของ ชมรมนักข่าวกองปราบปราม และ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผกก.ปพ.บก.ป. โดยมี พ.ต.ท.ไผท คูสันเทียะ รอง ผกก.ปพ.บก.ป. พ.ต.ท.ศิววงศ์ ดำรงสัจจ์ศิริ รอง ผกก.ปพ.บก.ป. และ ร.ต.อ.หญิง ธัญญ์ธวัล คดดวง รอง สว.กก.ปพ.บก.ป. เดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์สัมผัสถึงวิถีชีวิตของตำรวจและประชาชนในดินแดนปลาดิบด้วย

เริ่มต้นเข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ตำรวจญี่ปุ่น อาคารเล็กๆ สูงแค่ 4 ชั้น ทว่าเต็มไปด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาทางเทคโนโลยีของตำรวจญี่ปุ่นไว้มากมาย

ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะนิยมพาเด็กมาศึกษาชีวิตตำรวจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เสมือนเป็นการ “ปลูกฝัง” ให้เด็กและเยาวชนรักตำรวจ

โดยเฉพาะรูปแบบขององค์กรตำรวจที่ประสบความสำเร็จบนพื้นฐานแนวคิด “ตำรวจเพื่อชุมชน” (Community Policing) ที่เกิดจาก “ป้อมตำรวจชุมชนเมือง” รู้จักกันในชื่อ โคบัง (Koban) เน้นให้บริการในลักษณะสถานีตำรวจย่อย

พิพิธภัณฑ์ตำรวจญี่ปุ่นได้สร้างห้องจำลองป้อมตำรวจชุมชนเมือง ฉายภาพให้เห็นการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงของตำรวจที่ทำหน้าที่อยู่ในป้อม คอยให้คำปรึกษาชาวบ้านทุกเรื่อง ตั้งแต่ทะเลาะวิวาท ปัญหาความขัดแย้งตามบ้าน ไปจนถึงติดตามเอกสาร และทรัพย์สินสูญหาย

ดูแลกระทั่งส่งเด็กนักเรียนหลงทาง หรือ “คนเมา” ขึ้นรถแท็กซี่กลับบ้าน

ถือเป็นปรัชญาพื้นฐานในการบริการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนของตำรวจญี่ปุ่น

ที่สำคัญ พวกเขาไม่พกปืน นอกจาก กระบอง และใช้จักรยานเป็นพาหนะสามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุตามตรอกซอกซอยในเวลาอันรวดเร็ว

เป็นการวางรากฐาน “ตำรวจเพื่อชุมชน” ที่เก่าแก่และดีที่สุดของโลกด้วย เพราะป้อมตำรวจชุมชนโคบังแห่งแรกในกรุงโตเกียวอายุมากกว่าร้อยปี ทำหน้าที่รับใช้ชุมชน ครองหัวใจคนญี่ปุ่น มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ

...

เมื่อตำรวจโคบังเข้าแก้ปัญหาความเดือดร้อนภายในชุมชนเมืองได้อย่างแท้จริง.

สหบาท