จากกรณีมีการเผยแพร่ข่าวการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เปิดประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามาจัดเก็บเงินเซส (CESS) หรือ ค่าธรรมเนียมการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักรเป็นเวลานานถึง 5 ปี จ่ายค่าตอบแทนให้เอกชน ร้อยละ 5 ของเงินเซส เสียงวิจารณ์แพร่สะพัด นี่เป็นรายการเปิดช่องทางทุจริต

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ชี้แจง... โครงการนี้ยังเป็นเพียงแค่แนวคิด ที่เกิดจากกองจัดเก็บค่าธรรมเนียมและรายได้ กยท. พบความผิดปกติของการขอเคลมเงินเซสคืนจากผู้ส่งออกเกิดขึ้นมาก

“เนื่องจากการเก็บเงินเซสนั้น ผู้ส่งออกจะแจ้งชนิดยางและปริมาณที่จะส่งออก และเมื่อกองจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯออกใบอนุญาตให้ ผู้ส่งออกจะโอนเงินเซสเข้าบัญชี กยท. จากนั้นจะขนยางส่งออกไปที่ด่านศุลกากร ทำการชั่งน้ำหนัก แต่ช่วง 2-3 ปีหลัง น้ำหนักที่ชั่งได้น้อยกว่าปริมาณที่แจ้ง ผู้ส่งออกมีสิทธิยื่นเรื่องขอเงินเซสคืน”

แต่หลังจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ดร.ธีธัช เผยว่า พบความผิดปกติในหลายเรื่อง เช่นมีการส่งออกไปโดยไม่ผ่านด่านชั่ง มีทั้งการเปลี่ยนหัวลากตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้น้ำหนักเบาลงมีทั้งนำใบอนุญาตส่งออกมาเวียนเทียน เป็นต้น

...

“เพื่อให้การแก้ปัญหานี้ กยท.ได้ข้อสรุปว่า เราควรที่จะมีเครื่องชั่งน้ำหนักเป็นของตัวเอง และมีเจ้าหน้าที่ กยท.ลงไปประจำด่านส่งออกทุกแห่ง แต่เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปรากฏว่า ต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 800 ล้านบาท ในการเช่าพื้นที่ สร้างอาคารซื้อเครื่องชั่ง วางระบบและกำลังคนที่ต้องทำงานตั้งแต่ 05.00–22.00 น. ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา สรุปแล้วทำเองไม่คุ้ม และไม่รู้จะไปเอาเงินมาจากไหน”

ผู้ว่าการ กยท. เล่าลำดับถึงที่มาของแนวคิดที่ทำให้บอร์ด กยท.มีมติจะให้เอกชนเข้ามาวางระบบการเก็บเงินเซส...แต่ไม่ใช่ให้มาเก็บเงินเอง ให้เข้ามาแค่ลงทุนวางระบบและหาคนมาคุมเครื่องชั่งน้ำหนัก ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ว่ามีการส่งสินค้าออกไปตามที่แจ้งไว้กับ กยท.จริงหรือไม่

“กยท.ยังคงเก็บเงินเซสเอง โดยผ่านทางบัญชีธนาคารเหมือนเดิม ส่วนเรื่องค่าตอบแทนให้กับเอกชนนั้น ไม่ได้สูงถึง 5% ของรายได้ทั้งหมด เหมือนที่เข้าใจกัน”

ดร.ธีธัช เผยเงื่อนไขในการจ่ายค่าตอบแทนให้เอกชนว่า จะมีการจ่ายเงิน 5% ให้เอกชนต่อเมื่อการเก็บเงินเซสได้มากกว่าปีละ 7,000 ล้านบาทขึ้นไป...เช่น ทั้งปีเก็บได้ 10,000 ล้านบาท เอกชนจะได้ 5% ของ 3,000 ล้าน หรือ 150 ล้านเท่านั้น...ส่วน กยท.จะได้ 2,850+7,000 ล้านบาท

...

แต่ถ้าเข้ามาทำระบบแล้วเก็บเงินเซสได้ไม่เกิน 7,000 ล้าน เอกชนจะไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ แม้แต่บาทเดียว...ส่วนตัวเลข 7,000 ล้านนี่มาจากไหน คำตอบคือ กยท.ได้เงินเซสเท่านี้มาติดต่อกันหลายปีแล้ว

แต่ถึงอย่างไร ทุกอย่างยังคงเป็นแค่แนวคิด...จะทำได้หรือไม่ ต้องเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งออกก่อนว่า จะอนุญาตให้ทำได้แค่ไหน.


ไชยรัตน์ ส้มฉุน