เริ่มเป็นรูปเป็นร่างกันแล้ว การแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ตามแนวคิด คนอยู่ร่วมกับป่าได้

จากเดิมการออกกฎหมายใดๆสักฉบับ ไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นๆ...กฎหมายบังคับใช้แล้วเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ จะละเว้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะผิดเสียเอง เลยกลายเป็นที่มาของความ ขัดแย้งทั้งปวงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้

การแก้กฎหมายทั้งสองฉบับน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ช่วยให้ชาวบ้านที่ต้องตกเป็นผู้ร้ายกลายมาเป็นคนพิทักษ์ป่าโดยไม่ต้องจ้าง

เป็นสัญญาณอันดีของความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกรมอุทยานฯ นำเอาศาสตร์พระราชานำร่องพลิกฟื้นป่าต้นน้ำที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.นาน้อย จ.น่าน ภายใต้ชื่อ “โคกหนองนาโมเดล”

ฟื้นฟูเขาหัวโล้น พื้นที่ดินเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมีให้กลับมาเขียวเหมือนเดิม โดยมีชาวบ้านเป็นแนวร่วม ...นำศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะเกษตรทฤษฎีใหม่ และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นเครื่องมือผลักดัน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนที่สูงจาก 16 ไร่ เป็นต้นแบบ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย 8.6 ล้านไร่ ภายใน 20 ปี

เริ่มต้นด้วยการห่มดิน ขุดดินแล้วใช้ซังเปลือกข้าวโพด ที่เดิมเผาทิ้งไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ มาห่มหน้าดิน ตามด้วยราดฉีดจุลินทรีย์ ก่อนที่จะฝังกลบ เพื่อให้ดินเสื่อมค่อยๆกลับมาฟื้นฟูจนปลูกต้นไม้ได้

ตามด้วยแบ่งพื้นที่ 16 ไร่ ออกเป็นโซนๆ ตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ พื้นที่โคก 9 ไร่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พื้นที่นา 4 ไร่ ไว้ให้ชาวบ้านได้กิน พื้นที่หนอง 3 ไร่ ลึก 4-6 เมตร เป็นทั้งที่เก็บกักน้ำ เลี้ยงกุ้งหอยปูปลา สลับกับฝาย และคูคลองไส้ไก่ ที่ไหลเชื่อมต่อกันทุกพื้นที่

...

แต่โมเดลนี้จะไปถึงฝั่งฝัน 8.6 ล้านไร่ ได้แค่ไหน จะถึงช้าหรือเร็ว...ยังต้องรอการแก้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ว่า จะเงื้อง่าราคาแพงเหมือนเดิมอีกหรือไม่.

สะ-เล-เต