เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง กรมวิชาการเกษตรเตือนชาวไร่มันสำปะหลัง... อย่าทึกทักเข้าใจผิด เดี๋ยวจะสูญเงินเปล่าๆ
เห็นต้นใบมันสำปะหลังเหลืองแห้งเหี่ยว คิดไปเองว่าเจอเพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟเล่นงาน ไปซื้อยาผิดมาฉีดพ่น อาการไม่ดีขึ้น...ก่อนจะไปหาซื้อสารมากำจัด เดินเข้าไปดูใกล้ๆให้ชัด จะเห็นสัตว์ตัวเล็กจิ๋วเท่าปลายเข็มสีแดงเป็นกลุ่มเต็มไปหมด ดูด้วยตาแบบนี้จะยากหน่อยเพราะตัวมันเล็กจริงๆ แต่ถ้าสังเกตแบบง่ายๆ ตรงก้านใบมันสำปะหลังจะมีหยากไย่คล้ายแมงมุมชักใย ในหยากไย่จะมีอะไรสีแดงๆเต็มไปหมด
นี่แหละ ไรแดงหม่อน ศัตรูตัวฉกาจของมันสำปะหลังในทุกระยะการเติบโตโดยเฉพาะในฤดูแล้ง มาดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบแก่และใบเพสลาด เกิดเป็นจุดประ-ด่างเหลืองบนผิวด้านบนใบ
หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินน้ำเลี้ยงบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น ทำให้ใบไหม้ ตรงกลางใบขาดพรุน ใบลู่ลง และเหี่ยวแห้ง
ถ้าพบระบาดของไรแดงหม่อน ให้เก็บใบมันสำปะหลังและส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
พื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ให้เกษตรกรฉีดพ่นด้วยสารกำจัดไรเป็นการเฉพาะ...อย่าได้ไปซื้อสารกำจัดแมลง หรือเพลี้ยมาใช้เด็ดขาด จะเปลืองทั้งค่ายาและค่าจ้าง เพราะฉีดไปไม่ได้ผล
สารกำจัดไรมีให้เลือกใช้ได้ตั้งแต่ ไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนบูทาทินออกไซด์ 55% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เตตระไดฟอน 7.25% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
แต่มีข้อห้าม ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรพ่นสลับชนิดสารเพื่อป้องกันไรแดงดื้อยา.
สะ–เล–เต
...