บนเครื่องสายการบินไทย ระหว่างสนามบินนาริตะ มุ่งสู่สนามบินสุวรรณภูมิ สาวเสียงใสบนวีลแชร์ย้อนอดีตให้ฟังว่า...

“ด้วยความที่มีสติ เราเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง สิ่งแรกที่คิดขณะอยู่ใต้ท้องรถ เรานึกอยู่ 2 อย่างคือ หนึ่ง-จะบอกพ่อกับแม่อย่างไรว่าเราเกิดอุบัติเหตุ และสอง-เราจะไปโรงเรียนอย่างไร เพราะขาเราไม่มีแล้ว เราพยายามขยับขา แต่ขยับไม่ได้ เพราะเอ็นมันขาด ขามันขาดไปแล้ว”

เหตุการณ์ระทึกขวัญนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 ขณะ ด.ญ.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือน้องธันย์ เด็กหญิงวัย 14 ปี ประสบอุบัติเหตุรถไฟฟ้าทับขาทั้งสองข้าง ระหว่างเรียนซัมเมอร์คอร์สภาษาอังกฤษที่ประเทศสิงคโปร์ต่อมาแพทย์จำเป็นต้องตัดขาทั้งสองข้างออกไป

ปัจจุบันเธออายุ 21 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ตำแหน่งผู้สำรวจความสุขคนไข้ เธออธิบายต่อว่า “เราเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง เมื่อเราลืมตาขึ้นมา ก็เลยไม่รู้สึกว่าตกใจมากนัก แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ตัดสินใจขณะนั้นคือ ระหว่างอยู่ในห้องผ่าตัดบอกกับคุณหมอว่า พร้อมที่จะผ่าตัด ผ่าตัดได้เลย ตอนนั้นไม่คิดอะไรเพราะมันเจ็บมาก อยากให้หายเจ็บยอมให้คุณหมอทำอะไรก็ได้”

เธอต้องรักษาอยู่ในประเทศสิงคโปร์ราว 2 เดือน และกลับเข้ามารักษาในประเทศไทยอีก 3 เดือน ถึงจะใส่ขาเทียมและเดินทางไปไหนมาไหนได้เกือบเหมือนคนปกติ

...

เมื่อถามว่า เธอมีวิธีปรับใจอย่างไร เมื่อรู้ว่าเดินไม่ได้เหมือนเก่า เธอบอกว่า “ระหว่างการรักษาก็ฝึกใช้วีลแชร์ตลอดเลย ออกไปทานข้าว กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า เลยทำให้ชีวิตมันเป็นอีกหนึ่งรสชาติ คิดว่าเอ...

ถ้าของมันอยู่สูงๆเราจะหยิบได้อย่างไร เราต้องต่อรถไหม ระหว่างที่ใช้ชีวิตแบบนี้มาปีกว่าๆ ควบคู่กับกายภาพบำบัดเดินไปด้วย มันก็เลยเหมือนเราได้มองชีวิต ปรับเปลี่ยนมุมมองให้ชีวิตมันเหมือนอยู่ในสภาพจริง มันเลยเหมือนได้เยียวยาไปในตัว ทำให้ปรับใจได้”

คิดได้ว่า “เราก็มีทางออกของเราไปอีกอย่างหนึ่งนี่ เราไม่ต้องมีขาเสมอไป เราก็ทำได้”

ข้อคิดเชิงบวกนี้ เธอบอกว่า น่าจะได้มาจาก “การเลี้ยงดูของพ่อแม่จริงๆ พ่อแม่ไม่ได้บอกตรงๆหรอก แต่จากการเลี้ยงดูทำให้เราคิดได้แบบนี้ เหมือนท่านบอกว่า เราต้องเชื่อมั่นกับสิ่งที่เราทำ และรับผิดชอบกับชีวิตของตัวเอง อย่างเราตัดสินใจไปเรียนสิงคโปร์ เมื่อผลมันเกิดขึ้น มันไม่ใช่ความผิดเรา เราระมัดระวังมากที่สุดแล้ว เมื่อผลมันเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องสู้กับความเป็นจริง”

อนาคต “ยังมองเหมือนเดิม แต่มองว่า เรามีแรงผลักดันขึ้นมาอีก เหมือนเราคิดว่า เมื่อเราเป็นอย่างนี้ เราจะทำอย่างไรให้มันเด่นออกมาได้ เราจะทำอย่างไรให้ดึงเอาจุดด้อยมาเป็นจุดเด่น ธันย์มองอย่างนั้นมากกว่า ถ้าเรามองแล้วเราพัฒนาไปเรื่อยๆ ได้ลองอะไรใหม่ๆ เราก็จะมีความสุขในสังคม ธันย์คิดอย่างนี้”

การเดินไปไหนมาไหน “ไม่ได้แคร์สายตาคนอื่น ว่าเขาจะสบประมาทหรืออย่างไร เราเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ขาที่ได้มา แม้จะไม่ใช่ขาที่ติดตัวเรามา มันก็มาแทนที่ขาเราให้ไปไหนมาไหนได้ เพราะฉะนั้นศักยภาพก็ต้องเหนือกว่าเมื่อเราได้มันมา”

ความฝัน “ธันย์อยากเป็นจิตแพทย์ เมื่อสายการแพทย์ไม่สามารถเรียนได้ เลยมาสายจิตวิทยาแทน แต่ด้วยการพูด ทำให้ธันย์ไปเรียนสายสื่อมวลชนก่อน อยากจะเรียนต่อยอดในเรื่องการพูดเพื่อนำไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก เป็นจิตวิทยาเชิงบวก”

เพื่อความพร้อมในการก้าวไปตามฝัน เธอเข้าเรียนวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ปัจจุบันอยู่ชั้นปีที่สอง เลือกวิชาเอกเป็นบริหารการสื่อสาร วิชาโทจิตวิทยา “อย่างแรกเลยเมื่อจบอยากไปเรียนต่อเลย เพราะระหว่างเรียนเราได้ทำงานอยู่แล้ว”

วางแผนไว้ว่าเมื่อจบ ป.โท จะไปต่อจิตวิทยาต่างประเทศ เพราะอยากเป็นนักจิตวิทยา หรือไม่ก็เป็นนักพูดให้กำลังใจคน

“ถ้าไม่ได้ก็เป็นนักสื่อสาร เป็นนักจิตวิทยา เพราะเราผ่านประสบการณ์มาเยอะ อย่างงานที่โรงพยาบาล พอเราไปทำ เราก็ชอบสายงานและมีความสุขกับงาน เพราะได้พูดคุยกับคนและได้เยียวยาด้านจิตใจเขา”

กับเพื่อนๆ “จริงๆเปลี่ยนแปลงไป เพราะปกติเราไปเที่ยวกับเพื่อนๆ นัดไปเที่ยวที่ไหนๆเพื่อนไม่ต้องดูแลเรา ไม่ต้องมาเป็นห่วงเรา แต่ว่าตอนนี้ เรียกว่าเราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โชคดีเรามีเพื่อนเยอะ เพื่อนเข้าใจเรา เขาก็อยากช่วยเหลือไม่รู้สึกรังเกียจหรือเป็นภาระ บางครั้งเพื่อนๆก็ได้กำลังใจจากเรา อย่างเวลาที่เขาท้อแท้ เพื่อนสนิทบางคนก็เครียดโทร.มาปรึกษา นอกจากให้คำปรึกษาคนไข้ตามหน้าที่การงานที่โรงพยาบาลแล้ว เรายังได้ให้คำปรึกษาเพื่อนด้วย”

ชีวิตที่เปลี่ยนไปกับครอบครัว “ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน ครอบครัวยังให้เราทำอะไรได้เหมือนเดิม แต่จะเป็นห่วงเรามากขึ้น แม้จะให้ทำเหมือนเดิม แต่ก็จะดูความเสี่ยงมากขึ้น เพราะท่านอาจจะรู้สึกผิดเบาๆ ที่ส่งลูกไปเรียนแล้วเกิดอุบัติเหตุ อะไรทำไรนองนี้ แต่ก็มีปีสองปีที่ท่านไม่ให้ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เดี๋ยวนี้ให้ไปเที่ยวคนเดียวได้”

...

การไปเที่ยว เคยไปเที่ยวพ่อแม่ลูกที่อเมริกา “เราเป็นคนจัดการให้ทั้งหมด ต่อมาท่านก็ให้ไปเที่ยวเกาหลีคนเดียวได้ จากสุวรรณภูมิไปเที่ยวที่โน่นได้ ความไม่สะดวกของเราก็คือ สัมภาระเราเยอะมาก ทั้งกระเป๋า วีลแชร์ แรกๆก็คิดว่าใครจะช่วยเรา แต่ก็โชคดีระหว่างช่วงมีคนเข้ามาช่วย เจ้าหน้าที่ของสายการบิน และเจ้าหน้าที่สนามบิน และคนที่เกาหลี เขาเห็นเขาก็ช่วยยกของให้ คงเหมือนช่วยคนปกติที่ช่วยผู้หญิงตัวเล็กๆที่ยกของหนักๆไม่ได้โดยทั่วไป เราลำบากบ้างก็ตรงมีวีลแชร์ และอุปกรณ์เยอะขึ้น”

เอาเข้าจริง “การไปเที่ยวคนเดียว เกิดผลดีตรงที่รู้จักการแก้ปัญหา พลิกแพลงหลบหลีกได้ ช่วยเหลือตนเองได้”

เมื่อถามถึงแนวคิดในการใช้ชีวิต เธอบอกว่า ยึดแนว พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่าง “พระองค์ท่านมีตำแหน่งเหมือนอยู่บนฟ้า ช่วยเหลือประชาชน แต่พระองค์ก็ลงมาสัมผัสชีวิต ประชาชน เรานำเอาเรื่องราวพระองค์ท่านมาเป็นบทเรียน”

นั่นก็คือ “เราต้องลงไปเจอด้วยตนเอง ไม่เพียงแต่ฟังคนอื่นเล่าแล้วก็เชื่อ แต่ลงไปสัมผัสก่อน เราเอาทั้งสองอย่างมาประกอบกันเลยเดี๋ยวนี้กว่าจะพัฒนาตนเองได้ก็ต้องลองสัมผัสดูก่อน เราต้องลองทำสิ่งที่เราอยากทำก่อน จะได้รู้ว่าเราทำได้หรือไม่ได้”

...

สิ่งหนึ่งที่ทำอยู่ประจำคือ การออกกำลังกาย และเรื่องทำให้ร่างกายดีขึ้น อย่าง “โดยการวิ่งของคนพิการ วิ่งคู่ ดำน้ำ ว่ายน้ำ วิ่งประจำตามงานที่เราอยากไป ปัจจุบันก็มีงานวิ่งของตัวเอง จัดที่โรงพยาบาลเป็นงานที่ให้คนพิการกับคนปกติมาวิ่งด้วยกัน”

ก่อนเครื่องจะลงสนามบินสุวรรณภูมิ เธอบอกว่า ชีวิตของเธอต้องการให้กำลังใจคน และฝากบอกว่าคนที่เจอปัญหาเล็กๆน้อยๆ หรือปัญหาใหญ่ก็ตาม “เราต้องมีสติก่อน ถ้าเรามีสติ แม้เราจะไปทางไหนก็ย่อมจะเกิดผลดี แม้ตอนแรกๆจะเป็นความคิดลบ แต่การที่เรามีสติก็จะยับยั้งให้เราไม่แย่ไปกว่าเดิมได้ ธันย์อยู่ได้ด้วยสติตั้งแต่แรกตกลงไป ก็ไม่ได้คิดฟุ้งซ่านไปก่อน นี่เป็นวิธีการที่ดี”

ชีวิตคนเรา “ถ้ามีสติ เราก็จะคิดเป็นระบบ และสามารถนำพาชีวิตของเราไปในทางที่ดีได้” เสียงคนบนล้อเลื่อนเตือนใจ ก่อนเครื่องร่อนลงสนามบินสุวรรณภูมิ.