หน่วยงานยุติธรรมในโลกสากล นอกจากตำรวจกับราชทัณฑ์ที่ติดอาวุธปืนพกปืนกลได้ ยังมีอีกหน่วยงานชื่อ “มาร์แชลเซอร์วิส” หรือ “คอร์ทมาแชล”

ในสหรัฐฯจัดตั้งเมื่อปี 1789 หน่วยนี้เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงยุติธรรมงานหลักคือ ล่านักโทษหลบหนี อารักขาผู้พิพากษา และบังคับคดีอาญาเป็นหลัก

แนวคิดนี้ศาลยุติธรรมไทยเห็นควรต้องมีตั้งแต่ปี 2547 หลังนายรพินทร์ เรือนแก้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลถูกโจรใต้ดักยิงจนเป็นคดีสะเทือนขวัญ!

ทางแก้เบื้องต้นคือ ศาลขอตำรวจ นปพ.มาอารักขาผู้พิพากษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ อัยการก็ขอกำลังด้วย กลายเป็นว่าตำรวจต้องเฉลี่ยกำลังออกไป

แนวคิดนี้จึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้ผลักดันเรื่องนี้ร้อนแรงกว่าในอดีตเล่าว่า เรื่อง “คอร์ทมาแชล” พูดคุยในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ พยายามผลักดันมาตลอด ตอนนี้มีร่างแนวทางไว้แล้ว...

ตำรวจเขามีหน้าที่จับโจรผู้ร้าย บางครั้งศาลออกหมายจับจำเลยที่หลบหนี แต่ไม่มีกระบวนการบังคับติดตามหมายจับ เพราะตำรวจต้องไปติดตามจับกุมคดีที่ใหญ่กว่า

เราเข้าใจปัญหาเหล่านี้...คอร์ทมาแชลจึงเป็นหน่วยงานที่จะมาทำหน้าที่ติดตามผู้หลบหนีหมายศาล...

ผู้บังคับบัญชาของคอร์ทมาแชลคือ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มีระเบียบการรักษาความปลอดภัยในศาล ให้อำนาจเลขาธิการศาลฯสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่มีทักษะและความชำนาญเฉพาะติดอาวุธได้...

มีประโยชน์ให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น สุดท้ายจะทำได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ...

“ถ้ารัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องคิดว่า ให้โอกาสเราทำแล้วบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผมมองว่าถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม”

...

ทั้งหมดเป็นการเปิดใจ ท่านเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องการตั้งหน่วยคอร์ทมาแชล ที่มี นายปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล ดูแลโครงการตามนโยบายประธานศาลฎีกาอยู่

ถ้าเกิดขึ้นมาได้น่าจะดีนะครับ เพื่อแบ่งเบาภาระตำรวจ ไม่ต้องรอให้คดีใกล้หมดอายุความถึงตามจับได้

นี่...ไม่รวมหมายจับที่หมดอายุความไปแล้วนะครับ มีเท่าไหร่ก็ไม่รู้?

สหบาท