มาว่ากันต่อจากเมื่อวาน...จะเลี้ยงไก่พื้นบ้านทั้งทีพันธุ์ไหนจะเหมาะ
ไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันแตกต่างกันตามสภาพท้องถิ่น ภาคเหนือมีไก่แม่ฮ่องสอน, ไก่แม่ฟ้าหลวง, ไก่ชี้ฟ้า อุตรดิตถ์มีไก่เขียวหางดำ หรือไก่พระยาพิชัย สุโขทัยมีไก่ประดู่หางดำ หรือไก่พ่อขุน พิษณุโลกมีไก่เหลืองหางขาว หรือไก่ชนนเรศวร ภาคใต้มีไก่คอล่อน, ไก่เบตง
ส่วนที่นิยมเลี้ยงกันโดยทั่วไป ประดู่หางดำ, เหลืองหางขาว, ไก่แดง, ไก่ชี, ไก่พื้นเมืองลูกผสม
ที่นิยมเลี้ยงเชิงพาณิชย์มากที่สุด ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่, เหลืองหางขาวกบินทร์, แดงสุราษฎร์, ชีท่าพระ พัฒนาสายพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์มาตั้งแต่ปี 2545-2550 โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
แต่ถ้าพูดถึงไก่ยอดฮิตนิยมเอามาทำไก่ย่าง จนคนกินติดอกติดใจไปทั่วเมือง คงต้องยกให้ไก่เนื้อโคราช
เป็นไก่ลูกผสมเกิดจากการผสมพันธุ์ของพ่อพันธุ์พื้นเมืองไก่เหลืองหางขาวของกรมปศุสัตว์ กับแม่พันธุ์ ไก่ มทส. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา
ลักษณะเด่น...เลี้ยงง่าย ทนโรค ทนแล้ง โตไว ทำให้เลี้ยงได้ทุกสภาพพื้นที่ในประเทศ ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 2 เดือน จะได้น้ำหนักตัวละ 1.2 กก. พร้อมขาย...ต่างจากเดิมต้องเลี้ยงกันนาน 4-5 เดือน
เนื้อไม่นุ่มเละเหมือนไก่เนื้อระบบปิด และไม่เหนียวแข็งเหมือนไก่พื้นเมือง นำไปปรุงอาหาร จะเหนียวนุ่ม ชุ่มฉ่ำ เคี้ยวแล้วเหมือนติดสปริง อร่อย นอกจากมีโปรตีนสูงแล้ว
ที่สำคัญสุด มีคอลลาเจนสูงกว่าไก่เนื้อ 2 เท่า มีไขมันและคอเลสเทอรอลต่ำ แต่มีกรดไขมันโอเมก้า–3
ขายได้ราคา กก.ละ 75-85 บาท มากกว่าไก่เนื้อถึงเท่าตัว เริ่มลงทุนแค่ 5,000-10,000 บาท ค่าลูกไก่ อุปกรณ์ และโรงเรือนแบบง่ายๆ มุงหญ้าคา สังกะสี ล้อมด้วยตาข่ายสูงประมาณเข่า เท่านี้ก็เลี้ยงได้แล้ว
...
ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยวางแผนการเลี้ยงบริหารจัดการดีๆ จนสามารถต่อยอดเปิดเป็นโรงฆ่า ร้านค้าเนื้อไก่สด เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน.
สะ-เล-เต