“อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน” แคมเปญโฆษณาที่ใช้กันเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกเหนือเที่ยวชมธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และงานประเพณี หรือชวนเล่นกอล์ฟ ดูมวยไทยแล้วช็อปปิ้ง

“ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” จึงถูกจัดเป็นประเภทการท่องเที่ยวแบบทางเลือกและสินค้าตัวใหม่ กับช่วยภาคเกษตรกรรมให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยว...เรามีแปลงนาเพาะข้าวกล้าอยู่ทั่วประเทศ มีสวนลิ้นจี่ ลำไย เป็นแหล่งหลักอยู่ภาคเหนือ มีสวนเงาะ มังคุด ทุเรียน ลางสาด ลองกอง ระกำ ออกดอกออกผลระหว่างพฤษภาคม-กรกฎาคม ทางภาคตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก และปราจีนบุรี

น่าสนใจว่า “อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน”...จึงดูเหมือนจะเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว ให้ก้าวหน้ากว่าทิ้งชาวสวนไว้โดดเดี่ยวลำพัง กิจกรรมที่ว่านี้เริ่มทำท่าว่าจะไปได้สวย ด้วยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นเจ้าภาพโครงการ และรับจัดนำนักท่องเที่ยวไปสู่เรือกสวน ก่อนจะวางมือให้ผู้ประกอบการนำเที่ยว ขายรายการนำเที่ยวต่อไปยังแหล่งนั้นๆ

ทัวร์อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน ถือกำเนิดโดยการสร้างจุดขายแบบจูงใจ ด้วยราคาค่าทัวร์ 2 วัน 1 คืน แค่หัวละ 70 บาท เหมือนประหนึ่งจะแข่งกับทัวร์ “0” เหรียญจากตลาดจีน

แต่...ไม่ทันเปิดโต๊ะขาย ปรากฏว่าที่นั่งบนรถถูกจองเต็มชั่วพริบตา ด้วยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงช่วงนั้น กว้านซื้อเป็นบุญคุณต้องทดแทน

ให้แก่หัวคะแนนฐานเสียงที่เสริมบุญขึ้นมานั่งบนหอคอย โดยสั่งการให้เจ้าภาพนั่นแหละ เป็นคนจัดสรรงบฯ มาอุดส่วนต่างการทำอะเมซซิ่งทัวร์ 70 บาทขาดตัว!

ผลตอบรับตามมาก็น่าติดตามคือ...ไม่มีบริษัทนำเที่ยวรายใด กล้าเดินตามรอยองค์กรรัฐทำทัวร์ 70 บาท เพราะพอดีดลูกคิดรางแก้วแล้ว มันขาดทุนตั้งแต่ยังไม่ทันได้เปิดโต๊ะขาย

...

โครงการดังกล่าวจึงถูกเก็บใส่ลิ้นชักไปพักหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อการเมืองเปลี่ยนมือถึงได้มีการหยิบมาปัดฝุ่นกันอีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนวิธีขายใหม่ ด้วยการชวนชาวสวนเก็บผลผลิตไว้กับต้น ให้คนมาเที่ยวได้ชิมถึงโคนต้น แทนการขายให้นายทุน กับจัดพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นตลาดซื้อขายผลผลิต แทนออกเร่ขายยังตลาดกลางที่มีพ่อค้าคนกลางเพ่นพ่านยั้วเยี้ยเต็มไปหมด

ขณะเดียวกัน ก็หันมาชวนนักท่องเที่ยวให้เลือกเที่ยวชมชิมผลไม้ แล้วซื้อติดมือติดรถกลับไป เป็นครรลองของ “ผู้ขาย” คือชาวสวน จะได้พบกับ “ผู้ซื้อ” คือนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสามารถกำหนดราคากันได้อย่างยุติธรรม ที่ไม่มีพ่อค้าคนกลางสอดแทรกคั่นกลางเป็นหนอนเกาะกินอยู่ตรงนั้น

เมื่อรูปแบบทัวร์อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน ปรากฏชัดเจนท่ามกลางความพึงพอใจของผู้ซื้อผู้ขาย เจ้าของสวนก็หันมาพัฒนารูปแบบการนำเสนอขายเพิ่มขึ้น เป็นการขายแพ็กเกจชมสวน กินบุฟเฟ่ต์ผลไม้แบบไม่จำกัดจำนวน ไม่ว่า...เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ระกำทั้งพันธุ์สุมาลีและเนินวง

ราคาขายเคยเริ่มต้นหัวละ 150 บาท ฤดูกาลล่าสุดขยับเป็น 300-400 บาท ตามชนิดและปริมาณผลไม้บนโต๊ะบุฟเฟ่ต์ ส่วนสวนร่วมโครงการที่เคยมี 40-50 สวน ในภาคตะวันออก ก็เพิ่มเป็น 100 สวน

น่าจะราวๆ 15 ปีที่อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน เริ่มมีบทบาทกับสวนผลไม้ มีข้อมูลว่า เจ้าของสวนขนาดเล็กถึงกลางทำเงินได้ถึงปีละ 4 ล้านบาท ส่วนขนาดใหญ่ 17 ไร่ขึ้นไปสูงถึง 10 ล้านบาททีเดียว

ตัวอย่างนับต่อจากนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนคุณภาพ และวิถีชาวสวนผลไม้ตะวันออก ซึ่งถ้าจะถามว่าเขาเหล่านั้นพึงพอใจมากน้อยเพียงใด? ก็จะได้รับคำตอบเหมือนกันทันทีตรงที่...“พอใจระดับหนึ่ง กับ...เศร้าใจอีกระดับหนึ่ง” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ป้าบุญชื่น โพธิ์แก้ว เจ้าของสวนยายดา บ้านยายดา ต.ตะพง อ.เมืองระยอง ซึ่งมีพื้นที่สวน 17 ไร่ และตั้งโต๊ะบุฟเฟ่ต์ผลไม้มา 15 ปี ยอมรับว่า พอใจที่ไม่ต้องขนผลผลิตไปขายถึงตลาด จะเหนื่อยหน่อยก็ตรงงานบริการ แต่ก็ได้ใกล้ชิดนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวช่วงฤดูกาลวันละ 400 คน ...“คนเราอย่างว่าแหละ นิสัยไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าจ่ายเงินซื้อทัวร์เข้าเที่ยวสวนแล้วจะทำอะไร กินแบบไหนก็ได้ โดยไม่คิดถึงหัวอกคนทำสวน”

ป้าบุญชื่น
ป้าบุญชื่น

...

ป้าบุญชื่นเผยความอัดอั้นที่ต้องประสบปัญหาซ้ำจำเจทุกปี เช่น การหักกิ่งเด็ดเงาะ มังคุด ลงมากิน พอดิบไปงอมไปก็โยนทิ้งโคนต้น ทั้งที่ได้แจ้งให้ทุกคนทราบก่อนแล้วว่า ผลไม้ทุกชนิดได้จัดไว้ให้แบบไม่อั้นแล้วบนโต๊ะบุฟเฟ่ต์ “ผลไม้แต่ละลูกกว่าเราจะประคบประหงมให้ติดต้นอยู่ได้ มันเหนื่อยแสนเหนื่อยอยู่นานเป็นปี นักท่องเที่ยวไม่เห็นคุณค่าตรงนี้ ถึงได้สร้างความเหนื่อยใจให้ชาวสวน”

ส่วนปัญหาที่มักเกิดบนโต๊ะบุฟเฟ่ต์ กับทุเรียนพันธุ์หมอนทองซึ่งขายกิโลกรัมละ 350 บาทนั้น ชาวสวนจะแกะวางเม็ดไว้บนพูให้ดูสวยงามน่ากิน คนที่ชอบห่ามๆ กรอบนอกแข็งใน ถ้าหยิบถูกพูก็ไม่เกิดปัญหา แต่คนที่ไม่ถูกพูจะทดสอบทันที โดยใช้เล็บจิกบนเนื้อทุเรียนจนมีตำหนิแล้วไม่กิน

วิธีนี้...ชาวสวนมองดูก็รู้ว่าไม่มีใครหรอก ที่อยากจะหยิบทุเรียนพูนั้นกินแทน

ที่ร้ายหนัก...บางรายกลับวางทุเรียนพูนั้นลง ไม่ระวังด้วยว่าเปลือกหนามจะไปทิ่มตำเนื้อทุเรียนพูอื่นให้เกิดตำหนิอีกแผล ป้าบุญชื่น บอกว่า วันหนึ่งๆต้องสูญทุเรียนตำหนิถึงวันละ 50 กิโลกรัม จึงจำเป็นต้องนำเนื้อทุเรียนเหล่านั้นไปกวนกับทุเรียนที่งอมมากๆ แล้วขายได้เพียงกิโลกรัมละ 130-250 บาท

ให้รู้ด้วยว่าเนื้อทุเรียนที่จะนำไปกวน 35 กิโลกรัม จะได้ทุเรียนกวนเพียง 17 กิโลกรัมเท่านั้น

เปิดอกพูดกันตรงๆการขายทัวร์ผลไม้ที่ว่านี้ ชาวสวนต่างรู้ดีหากเป็นลูกทัวร์ที่มีไกด์นำมา ไม่มีปัญหาการเลือกชิม ด้วยมีไกด์คอยกำกับ แต่กลุ่มที่มากันเองนี่แหละ คือกลุ่มที่คล้ายหนามตำอกชาวสวน ซึ่งจะต้องคอยทำความเข้าใจถึงการเที่ยว และหยิบผลไม้ชิมอย่างถูกวิธี เพราะการขายทัวร์วิธีนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ คือต้นทุนจากการทำสวน 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าจ้างแรงงาน ที่เหลือกำไรเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

...

ลุงเสริม หาญชนะ เจ้าของสวนผลไม้ลุงเสริม พื้นที่ 20 ไร่ บ้านหนองเก่า ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ผู้ใช้วิชาครูพักลักจำมาจากการเป็นลูกจ้างทำสวนจังหวัดจันทบุรี กลับมาทำสวนบ้านตัวเองตั้งแต่ปี 2536 ลองผิดลองถูกจนได้ผลผลิตคุณภาพไม่ต่างกับสวนต้นแบบแถบภาคตะวันออก

ลุงเสริม
ลุงเสริม

ปัจจุบันเป็นสวนรับนักท่องเที่ยวตามคำร้องขอของจังหวัด และก็ประสบผลสำเร็จมีนักท่องเที่ยวแห่เที่ยวชมสวนช่วงฤดูกาล ที่เหลื่อมเวลากับภาคตะวันออกเล็กน้อย ลุงเสริมรับว่า แต่แรกมีเงาะหลายต้นถูกฉีกขาดจากคนมาเที่ยว และทุเรียนที่แกะให้กินไม่อั้นบนโต๊ะบุฟเฟ่ต์ ราคาหัวละ 399 บาท...

ก็...มีคนกินทิ้งกินขว้างวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัมเหมือนกัน

นี่คือปัญหาที่ชาวสวนเองก็อยากบอกเจ้าของโครงการ...“อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน” น่าจะนำไปประเมิน ก่อนสรุปเป็นดัชนีชี้วัดว่านี่คือผลสำเร็จมหาศาล...ทั้งที่ความเป็นจริงอาจตรงกันข้าม

กระนั้นก็ตามที...ทั้งป้าชื่นแห่งสวนยายดา และลุงเสริมแห่งบ้านหนองเก่า ต่างเอ่ยปากประสานเป็นเสียงเดียวกันมาว่า ถึงจะมีปัญหาแต่ก็ยังยินดีที่จะทำโต๊ะบุฟเฟ่ต์บริการ เพราะสุขใจกับการได้ขายนักท่องเที่ยว ซึ่งดีกว่าขายให้พ่อค้าที่ไม่เคยทำสวน แต่ร่ำรวยจากน้ำมือชาวสวน

...

ขออย่างเดียวช่วยให้คงความเป็นจริงของคำว่า “อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน” ที่มิใช่ “ซึมไปทุกสวน” ก็แล้วกัน.