ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2560 เป็นต้นไป ผู้ซื้อซิมโทรศัพท์มือถือใหม่ทุกคนจะต้องถูกจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีอัตลักษณ์ นั่นคือการถ่ายภาพตรวจสอบใบหน้าและสแกนลายนิ้วมือ (Finger Print) เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่แท้จริง ตามคำสั่งของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ขั้นตอนดังกล่าวถูกบังคับใช้ทั้งการซื้อซิมผ่านศูนย์บริการ ร้านค้าที่จำหน่ายซิม หรือซื้อผ่านระบบออนไลน์ หากไม่มีการลงทะเบียนซิมมือถือใหม่ด้วยวิธีอัตลักษณ์จะไม่สามารถใช้งานได้

การลงทะเบียนซิมมือถือด้วยวิธีอัตลักษณ์ ซึ่งจะสามารถตรวจสอบใบหน้าและสแกนลายนิ้วมือของผู้ซื้อซิมนั้น จะช่วยพิสูจน์ตัวตนว่าผู้ซื้อซิมเป็นเจ้าของบัตรประชาชนตัวจริง ช่วยลดการปลอมแปลง เนื่องจากปัจจุบันแม้จะต้องใช้บัตรประชาชนในการซื้อซิมมือถืออยู่แล้ว แต่ยังคงมีการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนอยู่เนืองๆ

ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.เป็นต้นไป ผู้ที่มีความประสงค์จะซื้อซิมมือถือเบอร์ใหม่ ต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดหรือพาสปอร์ตตัวจริงกรณีเป็นชาวต่างชาติ หรือบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวตัวจริง ไปซื้อซิม ณ จุดขาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการลูกค้าของ ค่ายมือถือ ตัวแทนจำหน่ายซิมมือถือที่มีอยู่ราว 55,000 แห่งทั่วประเทศ

ระบบการลงทะเบียนด้วยวิธีอัตลักษณ์ ณ จุดซื้อซิม จะมีทั้งสแกนลายนิ้วมือและถ่ายภาพตรวจสอบใบหน้าผ่านเครื่องอ่านบัตรหรือSmart Card Reader ปัจจุบันค่ายมือถือได้นำระบบสแกนลายนิ้วมือ มาให้บริการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอำเภอนาทวี และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวม 25 จุด และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อีก 5 จุด รวมเป็น 30 จุด ส่วนเครื่องอ่านบัตรนั้นจะมีเกือบทุกที่ ณ จุดขายซิมมือถือ

โดยบัตรประชาชนของผู้ซื้อซิมจะถูกตรวจสอบผ่านเครื่องอ่านบัตร ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเปรียบเทียบใบหน้าหรือลายนิ้วมือพิสูจน์ว่าเป็นตัวตนจริง เมื่อข้อมูลตรงกันแล้ว หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงทะเบียนซิมมือถือด้วยแอพพลิเคชั่น 2 แชะ เพื่ออนุญาตให้เปิดใช้งานซิมใหม่ได้

...

“เมื่อมีการลงทะเบียนซิมมือถือใหม่เรียบร้อยแล้ว ข้อมูลของผู้ใช้จะถูกเชื่อมต่อส่งตรงไปยังฐานข้อมูลของค่ายมือถือทันที โดยไม่มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ ณ จุดขาย จึงขอให้ประชาชนสามารถมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจะถูกจัดเก็บไว้เป็นความลับและปลอดภัยอย่างแน่นอน” นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.กล่าว

ความพยายามในการระบุตัวตนของเจ้าของซิมมือถือนั้น สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านความมั่นคงเป็นหลัก

เช่นเหตุการณ์วางระเบิดกลางสี่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือน ส.ค.2558 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามหาผู้กระทำความผิดมารับโทษได้นั้น ก็เป็นผลมาจากการลงทะเบียนซิมมือถือทั้งหมด ทั้งๆที่ในประเทศไทยมีการใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 120ล้านเลขหมาย แต่ก็สามารถสืบเสาะหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษจนได้

แต่การลงทะเบียนด้วยการใช้บัตรประชาชนตัวจริงโชว์ ณ จุดขายเพียงอย่างเดียวในปัจจุบันเริ่มไม่เพียงพอ เพราะมีกลุ่มอาชญากรใช้บัตรประชาชนปลอมสวมรอยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งยากต่อการตรวจสอบ

การนำระบบอัตลักษณ์เข้ามาช่วย เช่น การใช้เครื่องสแกนลายนิ้วมือ รวมทั้งใช้เครื่องอ่านการ์ดอ่านข้อมูลที่บันทึกบนบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดจะช่วยให้ตรวจสอบข้อมูลได้แม่นยำขึ้นเกือบ 100%

อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์นั้นเพื่อเป็นการตอกย้ำ ถึงความเป็นเจ้าของเบอร์มือถือ “แบบตัวจริง เสียงจริง” ไม่มีการปลอมแปลง ไม่สามารถนำรูปคนอื่นมาสวมรอยในบัตรประจำตัวประชาชนได้อีก

นอกจากช่วยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงแล้ว การลงทะเบียนซิมมือถือ ยังช่วยป้องกันการนำเอาเลขหมายโทรศัพท์มือถือไปใช้ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือในการข่มขู่ ต้มตุ๋น หลอกลวง ซื้อขายยาเสพติดหรือสิ่งของผิดกฎหมาย การก่ออาชญากรรม

อีกทั้งในยุคปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้หลากหลายรูปแบบทั้งโอนเงิน ชำระเงิน ซื้อขายหุ้น ซึ่งขณะนี้การทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ล่าสุดเมื่อปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า มีบัญชีอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้งรวมกัน 35 ล้านบัญชี และปีนี้มีแนวโน้ม ว่าจะทะลุ 40 ล้านบัญชี

นอกจากนั้น มือถือยังขยับฐานะขึ้นสู่การเป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ e-wallet รองรับสังคมไร้เงินสด ความปลอดภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวด

ดังนั้นการลงทะเบียนซิมมือถือด้วยวิธีอัตลักษณ์จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างความปลอดภัยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของภาครัฐ.

ดวงพร อุดมทิพย์