ถึงฤดูปลูกกระเทียม กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรให้ระวังการระบาดของไรกระเทียม ที่สามารถเข้าทำลายได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะต้นกล้าไปจนถึงบ้านผู้บริโภค

เข้าทำลายในระยะต้นกล้า อาจตายหมดได้ทั้งแปลง...ถ้าเป็นระยะเริ่มลงหัว หัวกระเทียมเล็กลง

ระยะใกล้เก็บเกี่ยวไม่ค่อยมีผลต่อผลผลิตมากนัก...แต่เมื่อเก็บเกี่ยวจากไร่ไปแขวนผึ่งลม ไรจะเคลื่อนย้ายลงไปอยู่ที่กลีบหัวกระเทียมด้านใน ฝังตัวดูดกินไปเรื่อย จนผิวกลีบเหี่ยวย่น เปลี่ยนจากสีขาวเป็นเหลือง น้ำตาลเข้ม จนในที่สุดกลีบกระเทียมจะฝ่อ ไรจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินกลีบกระเทียมอื่นต่อไป

วิธีสังเกตอาการทำลายของไร...ต้นกระเทียมจะไม่สมบูรณ์ มีใบด่างเป็นหย่อมๆ สีขาวและเหลือง โดย เฉพาะบริเวณขอบใบจะพับเข้าหากันตามแนวเส้นกลางใบ ปลายใบม้วนงอพันกันไม่ตั้งตรง เป็นอาการที่เกษตรกรเรียกว่า “ใบบ่วง” มักจะพบมากบนใบอ่อนที่แตกใหม่ บางครั้งใบอ่อนที่เพิ่งเริ่มโผล่ออกมาจะมีอาการด่างขาวและบิดเป็นลูกคลื่น ไม่ยืดออกจากกาบใบ

หลังต้นกระเทียมงอกได้ 3 สัปดาห์ ถ้าพบอาการใบม้วนงอและขอบใบเป็นสีเหลืองมากกว่า 25% ให้พ่นด้วยสารฆ่าไร อะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ กำมะถัน 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 55-70 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และสำรวจต่อไปทุก 14 วัน หากพบอาการดังกล่าวให้พ่นซ้ำ โดยควรผสมสารจับใบ

การเก็บเกี่ยวควรแยกกระเทียมที่จะใช้ทำพันธุ์ไว้ต่างหาก ส่วนการป้องกันไม่ให้กระเทียมที่เก็บเกี่ยวมาเสียหายในขณะเก็บรักษา เกษตรกรควรทำการรมกระเทียมด้วย อะลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือฟอสฟีน ในอัตรา 1 เม็ดต่อเนื้อที่ 1 ลูกบาศก์เมตร

...

นำกระเทียมที่เก็บเกี่ยวแล้วมาแขวนผึ่งหัวกระเทียมให้แห้ง จากนั้นรมกระเทียมใต้ผ้าพลาสติกในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก รมทิ้ง 5 วัน แต่ถ้าเป็นกระเทียมที่ใช้ทำพันธุ์ควรรมซ้ำอีก 1 ครั้งก่อนนำไปปลูก ใช้อัตราระยะเวลาในการรมเช่นเดียวกับครั้งแรก และให้หลีกเลี่ยงการสูดดมก๊าซพิษในขณะปฏิบัติงาน โดยเฉพาะขณะเปิดผ้าพลาสติกหลังการรมแต่ละครั้ง...เนื่องจากอะลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือฟอสฟีนเป็นสารพิษอันตราย.

สะ-เล-เต